สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 พฤศจิกายน 2566
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.838 ล้านไร่ ผลผลิต 26.712 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.555 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22.938 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.71 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.631 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 10.29 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,594 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,147 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.91
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,137 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,548 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.28
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 28,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 31,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 9.70
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,830 บาท ราคาลดลงจากตันละ 19,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.18
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 853 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,116 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,841 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 725 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 583 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,584 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,895 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 311 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 577 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,372 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,680 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 308 บาท
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3064 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นาย Awaludin Iqbal เลขาธิการสำนักงานกำกับดูแลและควบคุมปริมาณและราคาข้าวของอินโดนีเซีย กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมวางแผนกำหนดโควตาการนำเข้าข้าวปริมาณ 2 ล้านตัน
ในปี 2567 ซึ่งลดลงจากปี 2566 ที่กำหนดโควตานำเข้าปริมาณ 3.8 ล้านตัน โดยการนำเข้าจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานข้าวในประเทศ รวมทั้ง รัฐบาลจะขยายระยะเวลาโครงการจัดหาข้าวรายเดือนให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย ประมาณ 22 ล้านครัวเรือน จากเดิมสิ้นสุดโครงการเดือนธันวาคม 2566 เป็นสิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2567 เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะราคาข้าวในประเทศที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ นาย Zulkifli Hasan รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่รัฐบาลตัดสินใจขยายระยะเวลาโครงการดังกล่าว เนื่องจากราคาข้าวในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ราคาข้าวปรับสูงขึ้นร้อยละ 19.80 เพราะได้รับอิทธิพลจากปรากฎการณ์เอลนีโญ สภาพภูมิอากาศแปรปรวน และประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ลดลง
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม ? กันยายน 2566 อินโดนีเซียนำเข้าข้าวประมาณ 1.79 ล้านตัน ขณะที่สต็อกข้าว ณ ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 คงเหลือประมาณ 1.45 ล้านตัน และคาดว่าสต็อกข้าวจะเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าข้าวในปี 2567 เพื่อตอบสนองต่อความต้องการบริโภค และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศ
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
กระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดีย รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม ? สิงหาคม 2566 อิหร่านนำเข้าข้าวจากอินเดียลดลงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยข้าวที่นำเข้าในปี 2566 มีมูลค่า 544 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 19,207 ล้านบาท) ลดลงจากปี 2565 ที่นำเข้ามูลค่า 913 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 32,235 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่กรมศุลกากรของอิหร่านรายงานว่า ในช่วงวันที่ 21 มีนาคม - 20 สิงหาคม 2566 อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ปริมาณ 536,793 ตัน มูลค่าประมาณ 633 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 22,349 ล้านบาท) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 43 และร้อยละ 44 ตามลำดับ โดยในปี 2566 อิหร่านนำเข้าข้าวจากประเทศ อินเดียสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน อิรัก และไต้หวัน ขณะที่ปี 2565 อิหร่านนำเข้าข้าวจาก อินเดีย ปากีสถาน ไทย อุรุกวัยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยชนิดข้าวที่นำเข้ามากที่สุด คือ ข้าวบาสมาติ
นาย Amir Talebi รองประธานฝ่ายการค้าต่างประเทศ สังกัดหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในกำกับกระทรวงเกษตรของอิหร่าน กล่าวว่า สาเหตุที่อิหร่านนำเข้าข้าวลดลง เนื่องจากเมื่อปี 2565 รัฐบาลอิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปริมาณมาก เพิ่มเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่นำเข้าเมื่อปี 2564 ส่งผลให้ยังคงมีข้าวเหลือในสต็อกและเพียงพอสำหรับการบริโภค รวมทั้งเพื่อการรักษาสมดุลปริมาณข้าวในคลังสำรองของภาครัฐและเอกชน นอกจากนี้ ช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม - 20 พฤศจิกายน ของทุกปี รัฐบาลอิหร่านจะประกาศห้ามนำเข้าข้าวตามฤดูกาล เพื่อเป็นการคุ้มครองเกษตรกรและผลผลิตภายในประเทศ
ทั้งนี้ อิหร่านมีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 803,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 5,018,750 ไร่) เก็บเกี่ยวผลผลิตในแต่ละปีได้ประมาณ 2.50 - 2.95 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้า อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าข้าวตามโควตาในแต่ละปีไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล เหตุการณ์ทางการเมือง และปัญหาภัยธรรมชาติ
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3064 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร