สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2023 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 พฤศจิกายน 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.838 ล้านไร่ ผลผลิต 26.712 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.555 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22.938 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.71 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.631 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 10.29 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,246 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,594 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.56

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,485 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,137 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 13.62

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 28,770 บาท ราคาลดลงจากตันละ 28,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 18,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 824 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,194 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 853 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,116 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.40 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 922 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 583 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,655 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (20,584 บาท/ตัน) แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 71 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 577 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,443 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (20,372 บาท/ตัน) แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 71 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.4295 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 ผลผลิต 518.136 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 513.684 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีปริมาณผลผลิต 518.136 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.87 การใช้ในประเทศ 525.160 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.72 การส่งออก/นำเข้า 52.848 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.86 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 167.420 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 4.21

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมา กัมพูชา จีน ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา อินเดีย ปารากวัย ไทย และเวียดนาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ จีน เอธิโอเปีย อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก เนปาล ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล กานา อินโดนีเซีย เคนยา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ไนจีเรีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

คณะผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (Ministry of Industry and Trade: MOIT) นำโดย นาย Tran Quoc Toan รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และตัวแทนผู้ประกอบการส่งออกข้าวเวียดนาม จำนวน 19 ราย เดินทางเยือนกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อส่งเสริมการค้าข้าวเวียดนามในตลาดจีนที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่จีนให้ความสำคัญนำเข้าข้าว

โดยเมื่อปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวไปจีน ปริมาณ 834,200 ตัน มูลค่า 423.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 14,994 ล้านบาท) และในปี 2566 (ตั้งแต่เดือนมกราคม ? กันยายน) เวียดนามส่งออกข้าวไปจีน ปริมาณ 869,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 41.10 เนื่องจากเวียดนามสามารถส่งออกข้าวได้หลากหลายพันธุ์ รวมทั้งจีนเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวอันดับ 2 ของเวียดนาม รองจากฟิลิปปินส์ ดังนั้น เวียดนามจึงพยายามปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามกฎระเบียบ ความต้องการ และตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้นในการนี้ เพื่อการพัฒนาความมั่นคงและความสัมพันธ์ทางการค้าโดยรวมและการค้าข้าวระหว่างเวียดนามและจีน คณะผู้แทนฯ ของเวียดนามได้ยื่นข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ สมาคม และผู้ประกอบการการเกษตรและอาหารของจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการค้าข้าว นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ได้กำหนดแนวทางในการดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือทางการค้า และสร้างช่องทางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และพัฒนาการส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังจีน รวมทั้ง ได้เตรียมการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MOU) เพื่อส่งเสริมการค้าและการส่งออกข้าวระหว่างเวียดนามและจีน โดยส่งเสริมผลิตภัณฑ์ข้าวของเวียดนามให้เข้าถึงตลาดค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซของจีนให้มากยิ่งขึ้น

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.4295 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ