สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: อ้อยและน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 20, 2023 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 พฤศจิกายน 2566

สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ดำเนินการประกาศราคาน้ำตาลทรายภายในราชอาณาจักร ตามอำนาจและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนวทางการบริหารความสมดุลในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย โดยให้ปรับราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงาน จากเดิมกิโลกรัมละ 19.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 21.00 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงาน จากเดิมกิโลกรัมละ 20.00 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.00 บาท ทั้งนี้ สำหรับราคาจำหน่ายปลีกเห็นควรให้มีการกำกับดูแลที่เหมาะสม และมีปริมาณที่เพียงพอสำหรับบริโภคภายในประเทศ (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์)
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในต่างประเทศ
  • นักวิเคราะห์จาก hEDGEpoint กล่าวว่า ฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมาของบราซิล ทำให้การส่งออกน้ำตาลชะลอตัว แต่อาจช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2567/2568 ได้ นอกจากนี้ โรงงานน้ำตาลต่างๆ ของบราซิลได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำตาลท่ามกลางราคาเอทานอลที่ตกต่ำ และคาดการณ์ว่า ผลผลิตน้ำตาลของบราซิลอาจสูงถึง 42 ล้านตัน ในปี 2567/2568 โดยมีน้ำตาลจำนวน 33.5 ล้านตัน พร้อมสำหรับการส่งออก ด้านสถาบันวิจัย Cepea รายงานว่า ราคาน้ำตาลทรายขาวที่ส่งออกของรัฐเซาเปาโล (Sao Paulo) ลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากโรงงานน้ำตาลต่างๆ ปรับลดราคาลง
  • องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ได้ลดการคาดการณ์น้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ในปี 2566/2567 เหลือ 335,000 ตัน ลดลงจากที่คาดไว้ในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ 2.11 ล้านตัน เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจากบราซิล รวมถึงตัวเลขการบริโภคเพิ่มขึ้นเป็น 180.22 ล้านตัน จาก 176.96 ล้านตัน ด้านประธานของ Raizen บริษัทน้ำตาลขนาดใหญ่ของบราซิล กล่าวว่า บริษัทสามารถเก็บเกี่ยวอ้อยได้มากถึง 85 ล้านตันในปีนี้ อย่างไรก็ตามต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในช่วงเดือนธันวาคม และมีนาคม โดยกล่าวเสริมว่า ปริมาณฝนของบราซิลอาจได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (El Nino)
  • รัฐบาลของประเทศอินเดีย รายงานข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โรงงานในรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ได้รับใบอนุญาตในการหีบอ้อยจำนวน 172 โรงงาน จากคำขอทั้งหมด 217 โรงงาน ขณะที่ผลผลิตน้ำตาลของรัฐมหาราษฏระ มีปริมาณสูงถึง 234,300 ตัน ด้านรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) โรงงานน้ำตาลจำนวน 5 โรง ในอำเภอมีรัท (Meerut) เปิดดำเนินการโดยใช้กำลังการผลิตเพียงร้อยละ 75 ? 80 เนื่องจากมีอุปทานอ้อยที่ต่ำ ด้านแหล่งข่าวกล่าวเสริมว่า แรงงานที่เพิ่มขึ้นหลังช่วงเทศกาลดิวาลีจะช่วยเพิ่มอัตราการเก็บเกี่ยวอ้อยได้

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ