สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 20 - 26 พฤศจิกายน 2566
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.838 ล้านไร่ ผลผลิต 26.712 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.555 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22.938 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.71 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67
มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 เห็นชอบในหลักการโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี
3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,028 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,246 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,179 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,485 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.92
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 28,770 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.80
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,350 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 18,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.54
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 846 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,851 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 824 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,194 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.67 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 657 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,049 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 583 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,655 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.26 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 394 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,874 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 577 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,443 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.47 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 431 บาท
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9654 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักข่าว Khmer Times รายงานว่า รัฐบาลติมอร์-เลสเตได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ว่าด้วยการค้าข้าวกับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อนำเข้าข้าวสาร จำนวน 4,000 ตัน
กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานสถานการณ์ข้าวของกัมพูชา โดยคาดการณ์ว่าในปี 2566/67 มีพื้นที่ปลูกข้าว 18.8 ล้านไร่ และผลผลิต 10.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 เนื่องจากคาดว่าราคาปัจจัยการผลิตลดลง และคาดการณ์การบริโภคข้าวของกัมพูชาในปี 2566/67 จำนวน 4 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565/66 เนื่องจากการอพยพของชาวกัมพูชาไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นในฐานะแรงงานอพยพ ขณะที่กระทรวงเกษตรกัมพูชา รายงานปริมาณสต็อกข้าวที่เก็บสำรองไว้มีประมาณ 433,000 ตัน เนื่องจากการบริโภคลดลง สำหรับการส่งออกข้าวของกัมพูชาในปี 2566/67 คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 2.1 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์ด้านโลจิสติกส์และการส่งออกข้าวไปยังตลาดสหภาพยุโรปดีขึ้น หลังจากที่สหภาพยุโรปได้ยกเลิกมาตรการปกป้อง (Safeguard Measures) ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากกัมพูชาในอัตรานำเข้าปกติ รวมทั้งสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (The Cambodia Rice Federation: CRF) ได้กำหนดเป้าหมายที่จะลงนามในสัญญากับผู้ซื้อข้าวหลายราย เพื่อให้การส่งออกข้าวสารเป็นไปตามเป้าหมาย 1 ล้านตัน ภายในปี 2568
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ภาวะราคาข้าวยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 650-655 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (ประมาณ 22,728 - 22,902 บาทต่อตัน) ส่งผลให้ผู้ซื้อยังคงชะลอการซื้อข้าวในช่วงนี้ ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศ มีปริมาณลดลงหลังจากที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (The summer-autumn crop) สิ้นสุดลง ขณะที่การเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (The winter-spring crop) คาดว่าจะเริ่มต้นในช่วงต้นปี 2567 และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สำหรับการส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม ? ตุลาคม 2566 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 7,053,132 ตัน มูลค่าประมาณ 3,946.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 137,977 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 6,084,769 ตัน มูลค่าประมาณ 2,945.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 102,991 ล้านบาท) โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 และร้อยละ 34.0 ตามลำดับ
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9654 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร