สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 12, 2023 15:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 4 - 10 ธันวาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.838 ล้านไร่ ผลผลิต 26.712 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 25.026 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 97.88 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67

มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวเปลือก ปีการผลิต 2566/67 จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,289 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,302 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,080 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,149 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 30,510 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.39

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,200 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 847 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,548 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 858 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,826 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 278 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 631 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,012 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,247 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.41 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 235 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 626 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,838 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 634 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,039 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.26 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 201 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8850 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย-อินโดนีเซีย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์การค้าสินค้าข้าว พบว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566 อินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย เนื่องจากอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าวเพราะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภัยแล้ง รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูมรสุมที่ล่าช้า ส่งผลให้อินโดนีเซียปลูกข้าวได้น้อยลง

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 รายงานว่า ในปี 2566/67 อินโดนีเซีย มีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 11.3 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 70.6 ล้านไร่) ผลผลิตประมาณ 33.5 ล้านตันข้าวสาร ทั้งพื้นที่เก็บเกี่ยว และผลผลิต ลดลงในสัดส่วนเท่ากันที่ร้อยละ 3 จากที่คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เนื่องจากประสบภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณเกาะชวาและพื้นที่บางส่วนของเกาะสุมาตราตอนใต้ ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเริ่มปลูกข้าวได้ตามช่วงเวลาที่เคยเพาะปลูก และทำให้เกษตรกรบางส่วนที่อยู่ในเขตปลูกข้าวบนพื้นที่ราบสูงที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ต้องปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เช่น ข้าวโพด เป็นต้น ทั้งนี้ ในปีที่มีสภาพภูมิอากาศปกติ อินโดนีเซียสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 รอบ โดยรอบแรกปลูกในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนตุลาคม - ธันวาคม คิดเป็นร้อยละ 45 ของการปลูกข้าวทั้งปี และเริ่มเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ส่วนที่เหลืออีก 2 รอบ เป็นการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้อินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าว ไปยังอินโดนีเซียปริมาณ 91,714 ตัน มูลค่า 42.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,474 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 1.06 ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด ซึ่งอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับที่ 20 ของไทย สำหรับในช่วงเดือนมกราคม ? ตุลาคม 2566 ไทยส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียปริมาณ 1,057,537 ตัน มูลค่า 523.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 18,261 ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 13.19 ของมูลค่าการส่งออกข้าวไทยในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566 ทำให้ปัจจุบันอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย โดยเฉพาะข้าวขาว 5% และ 10%

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8850 บาท

2) เวียดนาม

อธิบดีกรมการเพาะปลูกพืช กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม กล่าวว่า ข้าวเวียดนามได้รับรางวัลข้าวดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566 ซึ่งจัดขึ้นในภายในงานประชุมข้าวนานาชาติ (The 2023 International World Rice Conference Summit ) ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 28 - 30 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้ประกอบการค้าข้าวของเวียดนาม จำนวน 3 ราย ส่งพันธุ์ข้าว 6 สายพันธุ์เข้าร่วมการประกวด ประกอบด้วย (1) วิสาหกิจเอกชน Ho Quang Tri ส่งพันธุ์ข้าว ST24 และ ST25 (2) บริษัท Loc Troi Group ส่งพันธุ์ข้าว LT28 และ Nang Hoa 9 และ (3) บริษัท Thai Binh Seeds Group ส่งพันธุ์ข้าว TBR39-1 และข้าวเหนียวพันธุ์ A Sao เข้าร่วมประกวด ผลการตัดสินของคณะกรรมการปรากฎว่า อันดับที่ 1 ข้าวเวียดนาม อันดับที่ 2 ข้าวกัมพูชา และอันดับที่ 3 ข้าวอินเดีย

อธิบดีกรมการเพาะปลูกพืช กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการตัดสินดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ข้าวเวียดนามมีคุณภาพ และมีชื่อเสียงในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังเป็นการยืนยันถึงการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนามว่ามีการพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้องและบรรลุผลสำเร็จ โดยข้าวเวียดนามได้รับการขนานนามว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลก ซึ่งส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ และการส่งออกข้าวของเวียดนาม โดยเฉพาะข้าวที่มีคุณภาพสูง รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ภาคท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และภาคเกษตรกร ร่วมลงทุนในการผลิตข้าวดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 4,410 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 153,843 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยราคาข้าวในปัจจุบันปรับสูงขึ้น เช่น ข้าวหัก 5% ตันละ 663 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณตันละ 23,129 บาท) ข้าวหัก 25% ตันละ 643 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณตันละ 22,431 บาท) และข้าวหอมมะลิ ตันละ 748 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณตันละ 26,094 บาท)

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8850 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ