สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 15, 2024 11:31 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 8 - 14 มกราคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - มกราคม 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 25.350 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.14 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,941 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,814 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,185 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,474 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.80

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,150 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 875 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,376 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,426 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,218 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7155 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวในช่วงเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2566 มีปริมาณ 7,945,767 ตัน มูลค่า 4,612.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (160,115 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 6,924,919 ตัน มูลค่า 3,560.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (123,591 ล้านบาท) ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 และร้อยละ 28.9 ตามลำดับ โดยการส่งออกข้าวเดือนพฤศจิกายน 2566 มีปริมาณ 1,007,417 ตัน มูลค่า 23,010 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ที่ส่งออกปริมาณ 840,513 ตัน มูลค่า 18,700 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.9 และร้อยละ 23.3 ตามลำดับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญเร่งนำเข้าข้าวเพื่อชดเชยอุปทานในประเทศที่ลดลง และภาวะราคาข้าวในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี โดยข้าวขาว มีปริมาณการส่งออก 659,694 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 31 ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แอลจีเรีย อิรัก มาเลเซีย ญี่ปุ่น บราซิล และแคเมอรูน สำหรับข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณการส่งออก 170,324 ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 56.3 ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ส่วนข้าวนึ่ง มีปริมาณส่งออก 91,303 ตัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2566 ร้อยละ 11.2 ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ แอฟริกาใต้ และเยเมน

สมาคมฯ คาดว่าในเดือนธันวาคม 2566 การส่งออกข้าวจะมีประมาณ 800,000-900,000 ตัน และคาดว่าตลอดทั้งปี 2566 จะส่งออกข้าวได้เกินกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.5 ล้านตัน เนื่องจากผู้ส่งออกมีสัญญาส่งมอบข้าวที่ยังต้องเร่งส่งมอบเป็นจำนวนมากให้แก่ประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญในเอเซีย ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งในภูมิภาคแอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ที่ยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอม เพื่อชดเชยอุปทานข้าวในประเทศที่ลดลง และสำรองไว้ใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ประกอบกับไทยยังคงมีผลผลิตข้าวเพียงพอสำหรับการส่งออก และราคาข้าวไทยยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ ทำให้ผู้นำเข้าข้าวสนใจซื้อข้าวไทยมากขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2566 ตันละ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ตันละ 653-657 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปากีสถาน ตันละ 593-597 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนราคาข้าวนึ่งไทย ตันละ 659 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ข้าวนึ่งอินเดีย ตันละ 513-517 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปากีสถาน ตันละ 546-550 ดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7155 บาท

รัสเซีย

นายกรัฐมนตรี Mikhail Mishustin แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ได้ขยายระยะเวลาการห้ามส่งออกข้าวและธัญพืชจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพด้านการตลาดภายในประเทศ และเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ ถึงแม้ว่าที่ผ่านมารัสเซียยังไม่ประสบปัญหาการขาดแคลนข้าวและธัญพืช แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกและปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความสามารถในการผลิตข้าว และความต้องการข้าวภายในประเทศ อาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเรื่องข้าวและธัญพืชของรัสเซียได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การห้ามส่งออกข้าวและธัญพืชดังกล่าวมีข้อยกเว้น โดยจะไม่นำไปใช้กับประเทศสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (The Eurasian Economic Union: EAEU) ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน และอาร์เมเนีย รวมทั้งไม่นำไปใช้กับอับคาเซีย และเซาท์ออสซีเชีย ทั้งนี้ ข้าวและธัญพืชในประเทศจะยังคงสามารถส่งไปต่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หรือการขนส่งแบบถ่ายลำผ่านแดนระหว่างประเทศได้ ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ