นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยปีเพาะปลูก 2566/67 (ข้อมูล ณ 22 ม.ค. 67) คาดว่า เนื้อที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด 21,817 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 22,332 ไร่ (ลดลง 515 ไร่ หรือร้อยละ 2) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหอมแดงบางส่วนในอำเภอยางชุมน้อย และอำเภอราษีไศล ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกหลักได้รับผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมในช่วงที่เตรียมการเพาะปลูก ทำให้น้ำในนาแห้งช้า ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเตรียมแปลงปลูกได้จึงเลือนการเพาะปลูกออกไป เนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด 21,735 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 22,029 ไร่ (ลดลง 294 ไร่ หรือร้อยละ 1)
ปริมาณผลผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ มีปริมาณรวม 77,420 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 77,313 ตัน (เพิ่มขึ้น 107 ตัน หรือร้อยละ 0.14) เนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3,562 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 52 กิโลกรัม หรือร้อยละ 1) ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาแปลงปลูกหอมแดงและมีการบริหารจัดการเกี่ยวกับโรคระบาดในแปลงปลูกหอมแดงได้ดี
สำหรับปีเพาะปลูก 2566/67 ผลผลิตหอมแดงในบางพื้นที่ได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 คิดเป็นร้อยละ 4 ของผลผลิตทั้งหมด และจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 ประมาณ 54,194 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด โดยราคาหอมแดง (ราคาตลาด ณ 22 ม.ค. 67) แบ่งเป็น หอมแดงสดแก่ (คละ) ราคา 9 - 10 บาท/กิโลกรัม , หอมปึ่งคละ เป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ราคา 18 - 22 บาท/กิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ ราคา 25 - 30 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาดหอมแดง ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น พ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ร้านสิทธิกรณ์ดีพืชผล ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและส่งออกหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งขายลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนผลผลิตที่เหลือ ร้อยละ 20 จำหน่ายให้กับพ่อค้าต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ และนครราชสีมา รวมถึงพ่อค้ารายย่อยในพื้นที่
?หอมแดงศรีสะเกษเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด สร้างรายได้ปีละกว่า 1,600 ล้านบาท ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ รวมถึงตลาดอาเซียน โดยหอมแดงศรีสะเกษ ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563 ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเทคนิคการเพาะปลูกของคนในท้องถิ่น จึงทำให้หอมแดงศรีสะเกษ มีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากหอมแดงที่มาจากแหล่งผลิตอื่น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในด้านการผลิต การแปรรูป และช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาคุณภาพผลผลิต หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 อุบลราชธานี โทร 0 4564 4654 หรือ อีเมล zone11@oae.go.th สศท.11 กล่าวทิ้งท้าย
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร