นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง สศก. ได้ร่วมประชุมในฐานะผู้สนับสนุนข้อมูลด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยมีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) รวมถึงแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570)
สำหรับแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบและทิศทางในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศไทย และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 12.3 คือ การลดเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคภายในปี พ.ศ. 2573
ขณะที่แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการลดขยะอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายปริมาณการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลดลง ตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระยะที่ 1 พ.ศ. 2566 -2570 ในยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงอาหาร ส่วนแผนปฏิบัติการด้านโภชนาการแห่งชาติ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) จะมุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีภาวะโภชนาการดี สามารถดูแลตนเอง 21 ด้านอาหารและโภชนาการได้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนโภชนาการแห่งชาติ ผ่านการบูรณาการระบบข้อมูลด้านอาหารและโภชนาการ โดย สศก. ได้พัฒนาระบบปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด รวม 77 จังหวัด ให้บริการผ่านทาง https://pcc.oae.go.th ประกอบด้วย ข้อมูลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ครอบคลุมทั้งพืช ปศุสัตว์ ประมง และแมลงเศรษฐกิจ ในระดับตำบลและอำเภอ ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลด้านโภชนาการเชิงพื้นที่ที่หลากหลาย และเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหารและโภชนาการในระดับพื้นที่ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้พัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น และพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ประกอบด้วย เกษตรอินทรีย์ เกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการของชุมชนและเพียงพอกับความต้องการอีกด้วย
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร