สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 12, 2024 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 กุมภาพันธ์ 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.189 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 0.495 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 7.80 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก ในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,128 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,190 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,503 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,617 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.98

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 881 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,232 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 883 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,070 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 162 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 639 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,653 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตัน 655 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,047 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.44 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 394 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 636 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,546 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,836 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.00 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 290 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.4502 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ไทย

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวถึงข้อมูลใบอนุญาตส่งออกข้าวของกรมการค้าต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 - 30 มกราคม 2567 มีการขออนุญาตส่งออกข้าวปริมาณ 1,122,358 ตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 779,654 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.96 จากช่วงเดียวกันของปี 2566

กรมการค้าต่างประเทศร่วมกับสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย คาดการณ์การส่งออกข้าวปี 2567 มีปริมาณ 7.5 ล้านตัน ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกข้าวไทย ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 5.87 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และการส่งออกอาจจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ได้แก่ ปริมาณผลผลิตข้าวโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ทำให้ปริมาณอุปทานข้าวโลกเพิ่มขึ้น การนำเข้าข้าวของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มลดลง ส่วนหนึ่งเกิดจากความนิยมบริโภคข้าวในประเทศลดลง เช่น จีน และญี่ปุ่น ทำให้การแข่งขันทางด้านราคารุนแรงขึ้น ขณะที่ไทยมีต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศผู้ผลิตและประเทศผู้ส่งออกรายอื่น เช่น จีน เวียดนาม และอินเดีย นอกจากนี้ อินโดนีเซียอาจจะนำเข้าข้าวน้อยกว่าปี 2566 เนื่องจากมีข้าวคงเหลือในสต็อกค่อนข้างมาก ส่วนจีนมีการผลิตข้าวเพิ่มขึ้น และเริ่มปรับเปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้นำเข้ามาเป็นผู้ผลิตข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคของประชากรในประเทศและในอนาคตอาจเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวที่สำคัญ รวมทั้งอินเดียอาจยกเลิกประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนของอินเดียกลับมาส่งออกข้าวได้ตามปกติ สำหรับแนวทางการรับมือกับความท้าทายในการขายข้าวให้ประเทศคู่ค้าในประเด็นที่ราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาข้าวของประเทศผู้ส่งออกรายอื่นอันเนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงนั้น ทำให้ไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก โดยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีผลผลิตต่อไร่สูง และผลผลิตข้าวต่อไร่ไม่ควรน้อยกว่าประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่น ซึ่งปัจจุบันมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทยทั้งสิ้น ประกอบกับพันธุ์ข้าวต้องมีความต้านทานโรคและแมลง เพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าต่างประเทศมีกำหนดการเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและขยายตลาดข้าวในต่างประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่สำคัญอันดับต้นๆ ของไทย รวมทั้งมีการเจรจาซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) กับรัฐบาลอินโดนีเซีย จีน และประเทศอื่นที่มีความประสงค์ขอซื้อข้าวในรูปแบบ G to G ตลอดจนการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ และจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้าวไทย (Thai Rice Roadshow) ในตลาดจีนด้วย

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

2.2 มาเลเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ รายงานว่า รัฐบาลมาเลเซียกำลังเร่งดำเนินการขยายพื้นที่ทำการเกษตรแบบ Smart Farming ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการการปลูกข้าวอัจฉริยะ เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคของประชากรในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งโครงการฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เน้นการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสริมศักยภาพในการทำการเกษตร เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงทางอาหาร และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ประมาณ 10,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 165,500 ไร่

รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหาร กล่าวว่า โมเดลการทำการเกษตรแบบ Smart Farming ในรัฐเปอร์ลิส รัฐซาบาห์ และรัฐซาราวัก ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาการเกษตรของมาเลเซีย จะขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นๆ ด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตข้าวจาก 1.12 ตันต่อไร่ เป็น 1.67 ตันต่อไร่ ขณะที่ปัจจุบันการผลิตข้าวในรัฐซาบาห์และรัฐซาราวัก ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชากร อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมาเลเซียมีความมั่นใจว่าในระยะยาวทั้งสองรัฐจะสามารถผลิตข้าวได้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ และสามารถส่งออกข้าวไปยังรัฐอื่นๆ รวมทั้งส่งออกไปยังประเทศใกล้เคียงได้อีกด้วย

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ