สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2024 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต
          1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลง            จากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.189 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 11.01 ร้อยละ 11.78 และร้อยละ 0.92 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 0.495 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 7.80 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566) โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 (มติ ครม.วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก ในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,190 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,128 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,888 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,503 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.35

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 866 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,963 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 881 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,232 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 269 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 615 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,989 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตัน 639 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,653 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.76 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 664 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 620 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,168 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 636 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,546 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 378 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7541 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ฟิลิปปินส์

สำนักอุตสาหกรรมพืช กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ รายงานว่า ในช่วงเดือนแรกของปี 2567 มีการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 25 มกราคม 2567 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจำนวน 268,006 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 252,474 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.15 แต่เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 นำเข้าลดลงจาก 510,865.87 ตัน หรือลดลงร้อยละ 47.53 โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามมากเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 152,875 ตัน หรือร้อยละ 57.04 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด รองลงมานำเข้าจากไทย 78,597.03 ตัน ปากีสถาน 24,462.5 ตัน และเมียนมา 11,180 ตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี 2567 สำนักอุตสาหกรรมพืชได้ออกใบรับรองสุขอนามัยพืชและใบอนุญาตนำเข้าให้กับผู้ขออนุญาตนำเข้าข้าวแล้วจำนวน 373 รายการ

สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า นาย Francisco Tiu Laurel รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า อุปทานข้าวในฟิลิปปินส์จะมีเพียงพอถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (มกราคม ? มิถุนายน) จึงทำให้ราคาสินค้าอาหารในประเทศคงที่ แต่ราคาข้าวอาจจะสูงขึ้นจนถึงเดือนกันยายน 2567 เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลกระทบต่ออุปทานข้าวทั่วโลกและความต้องการธัญพืชที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวในต่างประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง โดยนาย Francisco Tiu Laurel กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่จำเป็นต้องป้องกันในขณะนี้ คือ ผู้แสวงหาผลกำไรที่อาจใช้ประโยชน์จากปรากฎการณ์เอลนีโญเป็นข้ออ้างในการกักตุนข้าว เพื่อปรับราคาจำหน่ายในท้องถิ่นให้สูงขึ้นอย่างไม่สมเหตุสมผลได้

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2.2 เวียดนาม

การส่งออกข้าวของเวียดนาม ปี 2566 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยสามารถส่งออกได้ 8.1 ล้านตัน เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวจากกัมพูชามาแปรรูปเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ซึ่งเวียดนามไม่มีกฎหมายห้ามนำเข้าข้าวเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ สำหรับปี 2567 คาดว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะเพิ่มขึ้น และอาจส่งออกข้าวได้ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน ประกอบกับเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2567 เวียดนามชนะการประมูลขายข้าวประมาณ 400,000 ตัน จากที่อินโดนีเซียเปิดประมูลนำเข้าข้าวทั้งหมด 500,000 ตัน ซึ่งส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าข้าวจากปากีสถาน และเมียนมา ขณะที่ไทยเข้าร่วมการประมูลด้วยแต่ไม่ชนะการประมูล เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งประมาณตันละ 30 ? 40 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 1,073 ? 1,430 บาท) โดยราคาข้าวที่ไทยเสนอประมูลตันละ 690 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 24,670 บาท) ขณะที่ข้าวเวียดนามเสนอประมูลตันละ 655 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 23,419 บาท)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7541 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ