สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 กุมภาพันธ์ 2567
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
- ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ความเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นสุดท้าย ฤดูการผลิตปี 2565/2566 เป็นรายเขต 9 เขต ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฯ ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ในอัตราเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 1,197.53 บาท/ต้นอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. และมีมติเห็นชอบการกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นฯ ฤดูการผลิตปี 2566/2567 ทั้ง 9 เขตคำนวณราคาอ้อยเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ ในอัตรา 1,420 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส. (ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ)
- ไทย-บราซิล จับมือร่วมกันลงนามยุติคดีพิพาทน้ำตาลในองค์การการค้าโลก (WTO) เป็นการถาวร หลังไทยปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยกรณีพิพาทดังกล่าว สืบเนื่องจากที่บราซิลฟ้องร้องไทยว่า ระบบอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยขัดต่อกฎเกณฑ์การอุดหนุนของ WTO และได้ยื่นคำขอหารือกับไทยภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO เมื่อปี 2559 ซึ่งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 8 ปี โดยไทยได้แสดงความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขข้อห่วงกังวลของบราซิลและได้พยายามปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ WTO ในเรื่องการอุดหนุน จนในที่สุดนำมาซึ่งการลงนามระหว่างสองฝ่ายในข้อตกลงเพื่อยุติคดีน้ำตาลใน WTO เป็นการถาวรได้ (ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ)
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในต่างประเทศ
- กระทรวงพาณิชย์บังคลาเทศ คาดการณ์ว่า บังคลาเทศจะมีการนำเข้าน้ำตาลจากอินเดียก่อนช่วงรอมฎอน โดยบังคลาเทศได้ร้องขอการนำเข้าน้ำตาลจำนวน 100,000 ตัน จากรัฐบาลอินเดีย เบื้องต้นได้รับการยืนยันแล้วจำนวน 50,000 ตัน และคาดหวังว่าจะได้รับตามจำนวนที่ร้องขอ ทั้งนี้ รัฐบาลบังคลาเทศได้เน้นย้ำถึงความพยายามเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีสินค้าเพียงพอในช่วงรอมฎอน รวมถึงการสำรวจการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
- โรงงานน้ำตาลเมืองเดห์ราดูน (Dehradun) รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ประเทศอินเดีย กำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอ้อย โดยความสามารถในการหีบอ้อยในแต่ละวันของโรงงานอยู่ที่ 2,500 ตัน แต่อุปทานที่ไม่เพียงพอทำให้การดำเนินการเป็นไปได้ยาก ส่งผลให้โรงงานต้องเริ่มกระบวนการสรุปสิ้นสุดฤดูการหีบอ้อย ซึ่งจะมีการแจ้งครั้งแรกในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 (ที่มา: chinimandi)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร