สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 มีนาคม 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนน้อย ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดเดือนมีนาคม 2567 ปริมาณ 0.045 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.17 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2567 อีก 0.070 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 6.88 ร้อยละ 8.19 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนมีนาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 2.037 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 32.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.260 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 67.08 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,192 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,326 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.94
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,290 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,723 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.69
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.81
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,483 บาท/ตัน)
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,279 บาท/ตัน)
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 627 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,173 บาท/ตัน)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3631 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
การประชุมร่วมกันของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade: MOIT) และสำนักงานการค้าเวียดนามในต่างประเทศ ได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่องความต้องการข้าวในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น และราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลเวียดนามต้องการให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวในปี 2567
กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า คาดการณ์ว่าในปี 2567 ความต้องการนำเข้าข้าวของหลายประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งประเทศที่เป็นตลาดส่งออกข้าวรายใหญ่ของเวียดนาม เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และจีน เนื่องจากการค้าข้าวทั่วโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายของอินเดียที่ระงับการส่งออกข้าวชั่วคราว อย่างไรก็ตาม กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ (Ministry of Foreign Affairs: MOFA) และกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ในการขยายตลาดส่งออก และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนาม โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะติดตามสถานการณ์ตลาดการค้าข้าวโลก และประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวรายใหญ่อย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมการผลิตและธุรกิจข้าวของเวียดนามในเชิงรุก ส่งเสริมการค้าในรูปแบบคู่ค้าธุรกิจ (Business to Business: B2B) และรูปแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าข้าวกับตลาดดั้งเดิม เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จีน และทวีปแอฟริกา นอกจากนี้ เวียดนามยังคงส่งเสริมการส่งออกข้าวหอมและข้าวคุณภาพสูงไปยังสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และอเมริกาเหนือ ในขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ และประเทศในตะวันออกกลางได้มีสัญญาณตอบรับในเชิงบวกเช่นกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าจะดำเนินการด้านยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดส่งออกข้าวของเวียดนามจนถึงปี 2573 ด้วยการสนับสนุนให้ผู้ค้าข้าวปรับปรุงกำลังการผลิตและคุณภาพข้าว ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด เน้นการเจรจาการค้า และจัดทำข้อตกลงทางการค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น รวมทั้งให้ความช่วยเหลือหากเกิดกรณีข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศของผู้ส่งออกเวียดนาม เพื่อลดอุปสรรค และสร้างโอกาสในการเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามต่อไป
ข้อมูลของสำนักงานสถิติเวียดนาม ระบุว่า เดือนกุมภาพันธ์ 2567 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 663,209 ตัน มูลค่า 466.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (16,500.42 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 และร้อยละ 53.0 ตามลำดับ โดยราคาส่งออกข้าวเฉลี่ยตันละ 703.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,877.94 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.65 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3631 บาท
สหพันธ์ข้าวแห่งกัมพูชา (Cambodian Rice Federation: CRF) รายงานการส่งออกข้าวสาร ในช่วงเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณ 90,153 ตัน มูลค่า 65.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,315.58 ล้านบาท) ลดลงจาก 97,153 ตัน มูลค่า 72.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,567.36 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 7.2 และร้อยละ 9.9 ตามลำดับ โดยกัมพูชาส่งออกข้าวสารผ่านผู้ส่งออก 40 ราย ไปยัง 50 ประเทศ ชนิดข้าวที่ส่งออก ได้แก่ ข้าวหอม ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวอินทรีย์ ซึ่งในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2567 กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนปริมาณ 11,083 ตัน มูลค่า 6.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (240.82 ล้านบาท)
รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา กล่าวว่า รัฐบาลกำลังหาตลาดใหม่สำหรับส่งออกข้าว โดยมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มประเทศที่ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับกัมพูชา ในการนี้ กระทรวงพาณิชย์กัมพูชากำลังดำเนินการส่งเสริมและเปิดตลาดส่งออกข้าวผ่านข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-จีน ข้อตกลงการค้าเสรีกัมพูชา-เกาหลีใต้ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรอบด้านกัมพูชา-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3631 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร