เปิดตัวเลข ?สับปะรดปัตตาเวีย? จ.ชัยภูมิ แหล่งผลิตสำคัญภาคอีสาน ปีนี้ ผลผลิตรวม 3.8 หมื่นตัน
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตสับปะรดปัตตาเวีย ปี 2567 ของจังหวัดชัยภูมิ แหล่งผลิตสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นของ สศท.5 คาดการณ์ว่า ปี 2567 จังหวัดชัยภูมิ มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว จำนวน 8,149 ไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 8,151 ไร่ เนื่องจากภาวะฝนแล้ง และฝนทิ้งช่วง คาดว่าเกษตรกรบางส่วนกังวลว่าจะกระทบแล้งจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลังซึ่งมีต้นทุนต่ำกว่า และไม้ผลที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทุเรียน ยางพาราที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตรวม จำนวน 38,178 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 38,187 ตัน เนื่องจากภาวะฝนแล้งและการดูแลรักษาไม่เพียงพอ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ จำนวน 4,685 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 4,665 กิโลกรัม/ไร่
จากการติดตามของ สศท.5 พบว่า แหล่งผลิตสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยวมากที่สุด 3 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอแก้งคร้อ และอำเภอเทพสถิต ซึ่งสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี จัดอยู่ในกลุ่ม Smooth cayenne เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด เหมาะสำหรับการบริโภคสด มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว หากเก็บเอาไว้สักระยะจะมีรสชาติหวานเพิ่มขึ้น โดยในปี 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาดมากช่วงต้นปี (มกราคม ? มีนาคม) จำนวน 13,957 ตัน คิดเป็นร้อยละ 36.43 ของผลผลิตทั้งจังหวัด และจะออกมากอีกรอบช่วงปลายปี (พฤศจิกายน ? ธันวาคม) จำนวน 13,815 ต้น คิดเป็นร้อยละ 36.06 ของผลผลิตทั้งจังหวัด ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าผู้รวบรวมในพื้นที่เพื่อส่งขายโรงงานแปรรูปสับปะรด สำหรับราคาขายแบ่งเป็น 2 เกรด (ราคา ณ ไร่นา วันที่ 25 มีนาคม 2567) ได้แก่ สับปะรดผลใหญ่ ราคา 11.60 บาท/กิโลกรัม สับปะรดผลเล็ก ราคา 5 บาท/กิโลกรัม ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 10 จำหน่ายเป็นสับปะรดบริโภคผลสด ราคา 15 ? 20 บาท/กิโลกรัม โดยราคาขึ้นอยู่กับขนาดของผล
ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ยังได้รับการสนับสนุนจากโรงงานแปรรูปสับปะรดผ่านผู้รวบรวมในพื้นที่ให้มีการตั้งเครื่องคัดเกรดสับปะรดปัตตาเวีย สนับสนุนให้เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก และส่งเสริมให้มีการนำเปลือกสับปะรดไปผสมทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพในพื้นที่เพาะปลูก อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 3 , 4 และ 5 ประธานเกษตรกรแปลงใหญ่สับปะรดปัตตาเวีย โรงงานแปรรูปสับปะรดปัตตาเวีย และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ให้ความสำคัญกับสับปะรดปัตตาเวีย โดยร่วมกันจัดทำแผนติดตามการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตสับปะรดปัดตาเวีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 2567 รวม 5 จังหวัด ดังนั้น สับปะรดปัตตาเวียจึงเป็นอีกหนึ่งของสินค้าทางเลือกของเกษตรกรที่สามารถสร้างมูลค่าและรายได้เสริมให้แก่ครัวเรือนเกษตรได้เป็นอย่างดี หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตและตลาดสับปะรดปัตตาเวียของจังหวัดชัยภูมิ สามารถสอบถามได้ที่ สศท.5 โทรศัพท์ 0 4446 5079 หรือ อีเมล์ zone5@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร