สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 13, 2024 14:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 พฤษภาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.310 ล้านไร่ ผลผลิต 26.308 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.62 ร้อยละ 2.89 และ ร้อยละ 2.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และในปี 2567

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าสภาพภูมิอากาศเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 จะอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเพาะปลูกและระยะเจริญเติบโต เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างเมื่อปี 2566 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณ 16.884 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 64.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.708 ล้านไร่ ผลผลิต 6.238 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.47 ร้อยละ 9.82 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.851 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 13.64 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2567 อีก 0.524 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.40 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67

โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคท 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,018 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,948 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,499 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,410 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 32,790 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.32

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,975 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 858 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,492 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 483 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,489 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 599 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,985 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.50 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 504 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 611 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,379 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,912 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.35 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 467 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.6267 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

สมาคมอาหารเวียดนาม รายงานว่า ราคาข้าวของเวียดนามในตลาดโลกเพิ่มขึ้นตันละ 3 ? 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 110 ? 293 บาท) จากสัปดาห์ก่อน ทำให้เวียดนามกลับมาครองตำแหน่งผู้นำด้านราคาส่งออกข้าว โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 585 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 21,427 บาท) ซึ่งสูงกว่าราคาข้าวชนิดเดียวกันของไทยและปากีสถาน ตันละ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 110 บาท) และตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 366 บาท) ตามลำดับ สำหรับราคาข้าวขาว 25% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 555 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 20,328 บาท) สูงกว่าราคาข้าวของไทยและปากีสถาน ตันละ 23 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 842 บาท) และตันละ 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 476 บาท) ตามลำดับ ส่วนราคาข้าวหัก 100% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,215 บาท) สูงกว่าราคาข้าวของไทยและปากีสถาน ตันละ 21 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 769 บาท) และตันละ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 916 บาท) ตามลำดับ

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมกราคม ? เมษายน 2567 เวียดนามมีรายได้จากการส่งออกข้าวปริมาณ 3.23 ล้านตัน มูลค่า 2,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 76,200 ล้านบาท) ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 11.70 และร้อยละ 36.50 ตามลำดับ และคาดว่าในปี 2567 เวียดนามจะผลิตข้าวได้ประมาณ 43 ล้านตัน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคภายในประเทศและยังส่งออกข้าวได้มากกว่า 8 ล้านตัน

ที่มา สำนักข่าวซินหัว, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.6267 บาท

2) อินโดนีเซีย

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่า ในปีการผลิต 2567/68 อินโดนีเซียจะมีผลผลิตข้าวปริมาณ 33 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 32.10 ล้านตันข้าวสาร ในปีการผลิต 2566/67 ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้สภาพอากาศแห้งแล้งส่งผลต่อการผลิตข้าวของอินโดนีเซีย ในการนี้ รัฐบาลได้เพิ่มการจัดสรรปุ๋ยอุดหนุนเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตข้าวมากขึ้น สำหรับด้านการบริโภคข้าวในปี 2567/68 คาดว่ามีปริมาณ 35.40 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 35.10 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 ด้านการนำเข้า ในปี 2567/68 คาดว่าจะนำเข้าข้าวปริมาณ 1 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปริมาณ 3 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือลดลงร้อยละ 66.67 และสต็อกข้าวปลายปี ในปี 2567/68 คาดว่ามีปริมาณ 3.40 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปริมาณ 4.80 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือลดลงร้อยละ 29.17

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้มอบหมายให้หน่วยงานกำกับดูแลควบคุมปริมาณและราคาข้าว (BULOG) ตั้งเป้าหมายการจัดซื้อข้าวในปี 2567 ปริมาณ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 2.10 ล้านตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 เพื่อชดเชยผลผลิตข้าวที่ลดลงจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.6267 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ