สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 20, 2024 15:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 พฤษภาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.310 ล้านไร่ ผลผลิต 26.308 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.62 ร้อยละ 2.89 และ ร้อยละ 2.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และในปี 2567

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าสภาพภูมิอากาศเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 จะอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเพาะปลูกและระยะเจริญเติบโต เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างเมื่อปี 2566 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณ 16.884 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 64.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.708 ล้านไร่ ผลผลิต 6.238 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.47 ร้อยละ 9.82 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.851 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 13.64 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2567 อีก 0.524 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.40 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,420 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,018 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.86

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,829 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,499 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.14

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,590 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.05

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 912 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,063 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,975 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.47 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,088 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,528 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 614 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,489 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.70 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,039 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,912 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 611 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,379 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.44 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 533 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.2529 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิต 527.606 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 517.342 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนพฤษภาคม 2567 มีปริมาณผลผลิต 527.606 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.98 การใช้ในประเทศ 526.401 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.92 การส่งออก/นำเข้า 53.829 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.57 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 176.116 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.69

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย กัมพูชา บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย กายานา อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล มาเลเซีย แอฟริกาใต้ กินี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก โมซัมบิก สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น โซมาเลีย เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก จีน อินโดนีเซีย บราซิล และเคนยา
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียอาจขยายระยะเวลาโครงการจัดหาข้าวให้ประชาชน ที่มีรายได้น้อย ประมาณ 20 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 10 กิโลกรัมต่อเดือน จากเดิมสิ้นสุดโครงการเดือนมิถุนายน 2567 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2567 เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถรับมือกับภาวะราคาข้าวในประเทศ ที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้สภาพภูมิอากาศแห้งแล้ง ทั้งนี้ นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในการลดราคาข้าวในท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม การขยายระยะเวลาจะขึ้นอยู่กับงบประมาณที่มีอยู่

หน่วยงานกำกับดูแล ควบคุมปริมาณและราคาข้าว หรือ BULOG ซึ่งเป็นบริษัทจัดซื้ออาหารของอินโดนีเซียได้ซื้อข้าวจากการเก็บเกี่ยวในประเทศจำนวน 472,279 ตัน ขณะที่สต็อกข้าวปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านตัน และอินโดนีเซียนำเข้าข้าวแล้ว 1.2 ล้านตัน นอกจากนี้ BULOG ได้ออกประกาศการจัดการประกวดราคาข้าวระหว่างประเทศครั้งที่ 5 ของปี 2567 เพื่อซื้อข้าวขาว 5% จำนวน 300,000 ตัน กำหนดให้มีการลงทะเบียนเข้าร่วมการประมูลภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าจะมีการยื่นข้อเสนอราคาข้าวในวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 และประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 สำหรับเงื่อนไขการประมูล ระบุว่า เป็นข้าวขาว 5% จากฤดูการผลิต 2566/67 ที่ผ่านการสีแปรสภาพแล้วไม่เกิน 6 เดือน และกำหนดช่วงเวลาในการส่งมอบตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2567 ทั้งนี้ จากการจัดการประกวดราคาข้าว 4 ครั้งที่ผ่านมา อินโดนีเซียนำเข้าข้าวรวมประมาณ 1.4 ล้านตัน ส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย เวียดนาม เมียนมา และปากีสถาน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2) อินเดีย

สื่อท้องถิ่นของอินเดีย รายงานว่า รัฐบาลอินเดียอาจคงมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวที่ประกาศใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ต่อไป เนื่องจากราคาข้าวในประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาขายปลีกต่อกิโลกรัมปรับตัวขึ้นร้อยละ 13.10 เมื่อเทียบกับปี 2566 ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าข้าวอยู่ระดับสูงที่ร้อยละ 12.7 ทำให้รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือประชาชนท่ามกลางการเลือกตั้งที่กำลังมีขึ้นทั่วประเทศ ทั้งนี้ อินเดียอาจจำกัดสัดส่วนการส่งออกข้าวหักในกลุ่มข้าวขาวและข้าวนึ่ง จากเดิมส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 25 และร้อยละ 15 ตามลำดับ ลดลงเหลือสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 เพื่อให้มีปริมาณข้าวเพียงพอสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในประเทศ

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานการส่งออกข้าวของประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 พบว่า อินเดียมีปริมาณการส่งออกสูงสุดอยู่ที่ 4.30 ล้านตัน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ลดลงร้อยละ 28.1 รองลงมา ได้แก่ ไทย 2.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.4 เวียดนาม 2.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.7 ปากีสถาน 1.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.5 และสหรัฐฯ 0.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 90.5 ตามลำดับ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ