สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2024 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 20 - 26 พฤษภาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.310 ล้านไร่ ผลผลิต 26.308 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.62 ร้อยละ 2.89 และ ร้อยละ 2.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และในปี 2567

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าสภาพภูมิอากาศเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 จะอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเพาะปลูกและระยะเจริญเติบโต เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างเมื่อปี 2566 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณ 16.884 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 64.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.708 ล้านไร่ ผลผลิต 6.238 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.47 ร้อยละ 9.82 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนพฤษภาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.851 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 13.64 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนมิถุนายน - ตุลาคม 2567 อีก 0.524 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.40 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,553 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,420 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.93

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,880 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,829 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,675 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.37

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,825 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 21,590 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.09

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 913 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,970 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 912 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,063 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 93 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 649 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,436 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (23,528 บาท/ตัน) แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 92 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 633 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,859 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,912 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.16 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.1117 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) จีน

รัฐบาลจีนโดยกระทรวงการคลัง(The Ministry of Finance) กระทรวงเกษตรและกิจการชนบท(The Ministry of Agriculture and Rural Affairs) และหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของรัฐ (The State Administration of Financial Supervision) ได้ประกาศนโยบายกรมธรรม์ประกันภัยค่าใช้จ่ายเต็มจำนวน กรมธรรม์ประกันรายได้จากการปลูกข้าว และกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับข้าวโพดและข้าวสาลี โดยรัฐบาลจะใช้นโยบายดังกล่าวทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความคุ้มครองการประกันทางการเกษตร รักษารายได้ของเกษตรกร อำนวยความสะดวกในการพัฒนาพื้นที่ชนบท และปรับปรุงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งประกาศฯ จะมีการลงวันที่ย้อนหลัง โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและองค์กรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการผลิตทางการเกษตร

กระทรวงการจัดการเหตุฉุกเฉิน (The Emergency Management Ministry) รายงานว่า ในเดือนเมษายน 2567 เนื้อที่เก็บเกี่ยวพืชผลของจีนได้รับความเสียหายจากการเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง พายุทราย แผ่นดินไหว ไฟป่า และอุณหภูมิที่จุดเยือกแข็ง ประมาณ 2.37 ล้านไร่ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,810 ล้านหยวน (72,929 ล้านบาท) ในการนี้ การประกันภัยค่าใช้จ่ายเต็มจำนวนจะครอบคลุมการสูญเสียรายได้จากภัยธรรมชาติที่สำคัญ ศัตรูพืชและโรค รวมทั้งอุบัติเหตุจากสัตว์ป่าที่ทำให้เกิดความเสียหาย และความเสี่ยงอื่นๆ ส่วนการประกันรายได้จากการปลูกพืชจะครอบคลุมการสูญเสียที่เกิดจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและผลผลิต

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 หยวน เท่ากับ 4.9243 บาท

2) บราซิล

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า บราซิลเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในรัฐ Rio Grande do Sul ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 70 ของการผลิตข้าวทั้งประเทศ คาดว่ามีผลผลิตประมาณ 7.5 ล้านตัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ ผลผลิตสูญหายในบางพื้นที่ และอาจสูญเสียผลผลิตประมาณ 1 ล้านตัน ในการนี้ รัฐบาลกลางของบราซิลจึงได้ลงนามในมาตรการชั่วคราวในการอนุญาตให้บริษัทจัดหาธัญพืชแห่งชาติบราซิล (The National Supply Company หรือ Conab) นำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตัน เพื่อเติมเต็มสต็อกข้าวในประเทศ หลีกเลี่ยงการเก็งกำไร และรักษาระดับราคาข้าวในตลาดภายในประเทศ โดย Conab จะจัดการประกวดราคาสาธารณะ ซึ่งข้าวที่ได้มาจะถูกส่งไปยังผู้ค้าปลีกรายย่อยในเขตปริมณฑล แต่จะไม่นำเข้าข้าวทั้งหมดในคราวเดียวเพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิตของเกษตรกรในท้องถิ่น นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้วางแผนนำเข้าข้าวบรรจุถุง โดยเริ่มต้นจะนำเข้าจำนวน 200,000 ตัน จากประเทศผู้ผลิตในกลุ่ม Mercosur เช่น อาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย และโบลิเวีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเซาเปาโล รายงานว่า ภาคเอกชนของบราซิลอยู่ระหว่างการเจรจานำเข้าข้าว 75,000 ตัน จากประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากอินเดีย เพื่อชดเชยการสูญเสียการเก็บเกี่ยวที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมในรัฐ Rio Grande do Sul ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวเป็นหนึ่งในหลายมาตรการของรัฐบาลที่ดำเนินการเพื่อแก้ไขและป้องกันการเพิ่มขึ้นของราคาข้าวที่อาจเกิดขึ้น จากอุปทานที่ลดลงและการเพาะปลูกล่าช้า

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ