ผลสำเร็จ ?แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด? จ.นครราชสีมายกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ สร้างกำไรให้กลุ่ม 67 ล้านบาท/ปี
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตกล้วยหอมทอง ของกลุ่มเกษตรกร บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา นับเป็นกลุ่มต้นแบบที่มีศักยภาพการผลิตกล้วยหอมทอง ผลผลิตผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP รวมถึงมีโรงคัดบรรจุตามระบบ GMP เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค ยกระดับมาตรฐานสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศ
จากการติดตามของ สศท.5 พบว่า บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมาเริ่มต้นก่อตั้งในรูปกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในปี 2559 เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่จาก มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มาปลูกกล้วยหอมทอง เนื่องจากกล้วยหอมทองมีราคาดี มีรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ ในปี 2562 และจัดตั้งเป็น บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทอง สุขไพบูลย์ จำกัด ในปี 2564 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 72 ราย มีพื้นที่ปลูกประมาณ 1,200 ไร่ หรือ คิดเป็นร้อยละ 52 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด ด้านสถานการณ์การผลิต เกษตรกรปลูกกล้วยระยะ 2x2 เมตร ปลูกโดยใช้หน่อ 1 หน่อ/หลุมปลูก มีจำนวนต้น เฉลี่ย 400 ต้น/ไร่ อายุเริ่มให้ผลประมาณ 8 - 9 เดือน ภายใน 1 ปี เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 1 รอบการผลิต เกษตรกรดูแลรดน้ำโดยใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ใช้ไฟฟ้าหรือพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อจ่ายไฟให้กับปั๊มน้ำ โดยในปี 2566 บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด มีผลผลิตรวมประมาณ 5,700 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 5,289 กิโลกรัม/ไร่/ปี เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 99,089 บาท/ไร่/รอบการผลิต สร้างรายได้ให้กลุ่มกว่า 106 ล้านบาท/ปี หากคิดเป็นผลกำไรของกลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่ 67 ล้านบาท/ปี ด้านราคาขายกล้วยหอมทอง ปี 2567 (ราคา ณ 20 พฤษภาคม 2567) เฉลี่ยอยู่ที่ 18.73 บาท/กิโลกรัม แบ่งเป็น 2 เกรด คือ เกรด A น้ำหนัก 1.8 -3.5 กิโลกรัม/หวี ราคาอยู่ที่ 26 บาท/กิโลกรัม ส่วนกล้วยหอมทองตกเกรด ราคาอยู่ที่ 15 - 18 บาท/กิโลกรัม
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด เป็นผู้รวบรวมผลผลิตเพื่อตัดแต่ง คัดเกรด และบรรจุภัณฑ์ ได้มีช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้า และตลาดสด เป็นหลัก ภายหลังเดือนพฤศจิกายน 2566 ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระยะสัญญาเบื้องต้น 1 ปี กับบริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด ในราคา 19 บาท/กิโลกรัม (เกรด A) เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ซึ่งบริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด จึงได้นำนวัตกรรม ?ไมโคร นาโน บับเบิ้ลส์? มาใช้เพื่อช่วยยืดระยะเวลาการสุกของกล้วยที่จะส่งขาย ส่งผลให้ช่องทางการตลาด ด้านสถานการณ์ตลาดในปี 2567 ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 60 จำหน่ายให้กับ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด เพื่อส่งผลผลิตออกไปจำหน่ายประเทศญี่ปุ่น ตามข้อตกลง (MOU) ส่วนผลผลิตร้อยละ 20 จำหน่ายให้พ่อค้าในตลาดสด และห้างสรรพสินค้า และผลผลิตอีกร้อยละ 20 จำหน่ายให้โรงงานแปรรูปต่างจังหวัด
ทั้งนี้ บริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่ใกล้เคียงที่มีศักยภาพอีกประมาณ 100 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดและส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยในพื้นที่มีรายได้ ซึ่งแนวโน้มการตลาดกล้วยหอมทองยังไปในทิศทางที่ดี เนื่องจากตลาดมีความต้องการทั้งภายในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องให้ความรู้ ให้คำแนะนำเกษตรกรในเรื่องการผลิต และการตรวจประเมินแปลงตามมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ผลผลิตได้รับการยอมรับทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจข้อมูลการผลิตกล้วยหอมทอง สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายสมศักดิ์ แสงรัมย์ ประธานบริษัท แปลงใหญ่กล้วยหอมทองสุขไพบูลย์ จำกัด ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 นครราชสีมา โทร. 0 4446 5079 หรืออีเมล zone5@oae.go.th
*************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร