สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 10, 2024 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 มิถุนายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.310 ล้านไร่ ผลผลิต 26.308 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 422 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.62 ร้อยละ 2.89 และ ร้อยละ 2.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี และในปี 2567

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าสภาพภูมิอากาศเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2567 จะอยู่ในสภาวะเอลนีโญ แต่มีแนวโน้มสูงที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2567 และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2567 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว สภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเพาะปลูกและระยะเจริญเติบโต เกษตรกรจึงขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่ที่ปล่อยว่างเมื่อปี 2566 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณ 16.884 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 64.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.708 ล้านไร่ ผลผลิต 6.238 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.47 ร้อยละ 9.82 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนมิถุนายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.302 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 4.84 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2567 อีก 0.222 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 3.56 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67

โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคท 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,845 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,706 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.95

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,971 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,998 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 21,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.39

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 910 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 33,001 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 23,463 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 631 ดอลลาร์สหรัฐฯ ( 22,883 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.2648 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ฟิลิปปินส์

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า คณะกรรมการระหว่างหน่วยงานของฟิลิปปินส์ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ได้อนุมัติให้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าว และขยายเวลาการลดภาษีสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเงินเฟ้อและรับประกันว่าจะมีอุปทานที่เพียงพอ โดยจะปรับลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 ทั้งในโควตาและนอกโควตาไปจนถึงปี 2571 ซึ่งการปรับลดภาษีในครั้งนี้คาดว่าจะช่วยลดความกดดันที่มีต่อราคาข้าวในประเทศได้อย่างมาก ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (National Economic and Development Authority) กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลพยายามจะลดราคาข้าวเพื่อประชาชนชาวฟิลิปปินส์ด้วยการปรับลดภาษีนำเข้าข้าวให้เหลือกิโลกรัมละ 29 เปโซ (ประมาณกิโลกรัมละ 17.14 บาท) ภายในปี 2567 ในขณะที่ นายมิเกล ชานโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัยทางเศรษฐกิจในอังกฤษ กล่าวว่า การปรับลดภาษีดังกล่าวจะทำให้ข้าวที่นำเข้ามีราคาถูกกว่าข้าวที่ผลิตข้าวในประเทศ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในประเทศที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากการนำเข้าข้าวราคาถูก และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ในเอเชีย เช่น เวียดนาม และไทย

ทั้งนี้ สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า ราคาข้าวคิดเป็นร้อยละ 9 ของดัชนีราคาผู้บริโภคฟิลิปปินส์ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และในเดือนเมษายน 2567 อัตราเงินเฟ้อรายปีปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สามติดต่อกันอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีสาเหตุมาจากราคาขนส่งและอาหารที่เพิ่มขึ้น

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เปโซ เท่ากับ 0.5911 บาท

2) บราซิล

สำนักข่าว S&P Global Commodity Insights รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 รัฐบาลบราซิลได้จัดการประกวดราคานำเข้าข้าวขาว จำนวน 300,000 ตัน จากแหล่งผลิตทั่วโลก เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อด้านอาหาร และปรับสมดุลราคาข้าวในประเทศหลังจากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งรุนแรงในรัฐ Rio Grande do Sul โดยบราซิลจะนำเข้าข้าวบรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม ที่พร้อมสำหรับการเก็บรักษา และต้องมีตราประทับของรัฐบาลพิมพ์อยู่บนถุงบรรจุภัณฑ์ ทั้งนี้ ได้กำหนดราคานำเข้าที่กิโลกรัมละ 0.77 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณกิโลกรัมละ 27.92 บาท) สำหรับภาคเอกชนของบราซิลได้เริ่มนำเข้าข้าวขาวจากไทยแล้วประมาณ 120,000 ตัน เพื่อคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนข้าวภายในประเทศ

สำนักข่าว Reuters รายงานเพิ่มเติมว่า รัฐบาลบราซิลได้ประมาณการงบประมาณที่ต้องใช้จ่ายในการนำเข้าข้าวและมาตรการอุดหนุนการบริโภคภายในประเทศเบื้องต้น ประมาณ 443 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 16,065 ล้านบาท) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างรุนแรงจากเกษตรกรในท้องถิ่นและผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าว โดยทางด้านเกษตรกรให้ความเห็นว่า หากมีการสนับสนุนการนำเข้าข้าวที่มีราคาถูกกว่าราคาข้าวที่ผลิตในประเทศ อาจทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับการสูญเสียรายได้และอาจลดพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไป รวมทั้งกลุ่มโรงสีข้าวในประเทศอาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.2648 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ