สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: อ้อยและน้ำตาล

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 10, 2024 14:38 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 มิถุนายน 2567

สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
  • ไม่มีรายงาน
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในต่างประเทศ
  • สมาพันธ์สหกรณ์โรงงานน้ำตาลแห่งชาติ (NFCSF) ของประเทศอินเดีย รายงานว่า ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 การหีบอ้อยในปี 2566/67 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 313.78 ล้านเมตริกตัน ผลผลิตน้ำตาลที่ 31.67 ล้านเมตรติกตัน มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 534 แห่ง เปิดดำเนินการในฤดูกาลนี้ ซึ่ง 531 แห่ง สิ้นสุดการหีบอ้อยแล้ว เหลือโรงงานน้ำตาลเพียง 3 แห่งที่ยังดำเนินการอยู่ แม้ว่าปริมาณอ้อยที่เข้าหีบในปี 2566/67 จะลดลงจากฤดูการก่อนหน้าเล็กน้อย แต่ปริมาณผลผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.09 จากร้อยละ 9.83 ในปีก่อนหน้า โดยรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) เป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ รองลงมาคือรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh) และรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ตามลำดับ (ที่มา: Chinimandi)
  • The Sugar Regulatory Administration (SRA) ของฟิลิปปินส์ รายงานว่า พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 23,000 เฮกตาร์ได้รับผลกระทบจากการปะทุของภูเขาไฟคันลาออน (Kanlaon) ในเกาะเนกรอส (Negros) โดย SRA ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและเก็บตัวอย่างดินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินผลกระทบของเถ้าถ่าน ซึ่งส่งผลต่อระดับความเป็นกรดของอ้อยและดินให้เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์ผลกระทบของเถ้าถ่านได้ (ที่มา: Chinimandi)
  • ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของออสเตรเลีย กล่าวว่า กรณีข้อพิพาทของผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ในออสเตรเลีย อาจส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวอ้อย ตลอดจนการผลิตและการส่งออกน้ำตาลของออสเตรเลีย หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ทันท่วงที โดยการหยุดงานประท้วงของ 8 โรงงานน้ำตาลซึ่งอยู่ภายใต้บริษัท Singapore's Wilmar International (WLIL.SI) ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ ทำให้การเริ่มดำเนินการหีบอ้อยล่าช้าออกไป เช่นเดียวกับโรงงานน้ำตาลของ COFCO กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของจีน ที่เปิดเผยว่า ได้ชะลอการเริ่มต้นดำเนินการเช่นกัน เนื่องจากการหยุดงานประท้วงและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งนี้ ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก ส่งออกน้ำตาลประมาณ 3.5 ล้านตันต่อปีไปยังตลาดส่วนใหญ่ในเอเชีย อาจส่งผลให้อุปทานน้ำตาลในเอเชียตึงตัวขึ้น แต่คาดว่าจะไม่กระทบต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม การล่าช้าดังกล่าว สร้างความกังวลให้กับเกษตรกรที่เตรียมส่งมอบอ้อย แต่คาดว่าจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำตาลในช่วงฤดูหีบอ้อยที่จะเริ่มขึ้นในเดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ (ที่มา: Reuters)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ