สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 17, 2024 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 มิถุนายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ

โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ

โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,948 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,845 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,203 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,971 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.11

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 21,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.00

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 908 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,140 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 910 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,001 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 139 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 645 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,541 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 647 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,463 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 78 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 629 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,957 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 631 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,883 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 74 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.4979 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ส่งออกข้าวไทยอาจลดลงเหลือประมาณเดือนละ 6 แสนตัน จากช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม ปี 2567 ที่ไทยส่งออกได้ถึงเดือนละ 8 - 9 แสนตัน โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ประการแรก คือ ราคาส่งออกของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามประมาณตันละ 100 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 3,649.79 บาท) เช่น ราคาส่งออกข้าว 5% ของไทยอยู่ที่ตันละ 630 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 22,993.68 บาท) ขณะที่เวียดนามมีราคาอยู่ที่ตันละ 580 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 21,168.78 บาท) เนื่องจากมีการกักตุนข้าวในประเทศเพื่อเก็งกำไรทำให้ปริมาณการส่งออกน้อยกว่าที่ควร ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวในตลาดซื้อขายล่วงหน้าซึ่งได้กำหนดราคาขายไว้ที่ตันละ 596 - 600 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 21,752.75 ? 21,898.74 บาท) ต้องแบกรับภาระขาดทุน ประการที่สอง คือ ประเทศผู้นำเข้าจะซื้อข้าวในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้นไม่มีการสต็อกไว้อย่างเช่นเคย เพราะต้องการดูสถานการณ์ของอินเดียว่าจะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังหรือไม่ ประกอบกับความกังวลจากปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง เปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาที่มีฝนตกชุกส่งผลดีต่อการเพาะปลูกข้าว หากอินเดียมีผลผลิตข้าวดีและมีสต็อกสูงถึง 50 ล้านตัน จากปกติมีเพียง 20 ล้านตัน อาจทำให้อินเดียยกเลิกมาตรการฯซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโลกครั้งใหญ่ นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่ไทยยังส่งออกข้าวได้มากเพราะมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าและอยู่ในช่วงส่งมอบซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม 2567 หลังจากนั้นจะเปิดการขายใหม่ แต่มีความกังวลว่าไตรมาส 3 ของปี 2567 ยอดคำสั่งซื้ออาจไม่ดีนัก เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่งมาก และหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้ไทยส่งออกข้าวต่ำกว่าปี 2566 ที่ 8.7 ล้านตัน เหลือประมาณ 8 ล้านตัน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเร่งหาตลาดเพื่อส่งออกและควบคุมราคาข้าวในประเทศให้สามารถแข่งขันได้ ที่มา TNN ONLINE

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.4979 บาท

2) เวียดนาม ? ฟิลิปปินส์

สำนักงานส่งเสริมการค้าเวียดนามในฟิลิปปินส์ รายงานว่า การค้าข้าวระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ยังคงทรงตัว เป็นผลมาจากรัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการปรับโครงสร้างสำนักงานอาหารแห่งชาติ (National Food Authority : NFA) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ NFA มีเครื่องมือในการแทรกแซงตลาดข้าวคุณภาพต่ำที่บริโภคโดยชาวฟิลิปปินส์ผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักและสามารถควบคุมราคาข้าวให้คงที่ได้ รวมทั้งพิจารณาการแก้ไขกฎหมายเปิดเสรีการค้าข้าวในฟิลิปปินส์ (Republic Act No. 11203) เนื่องจากภาวะราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้นในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งนำเข้าข้าวที่สำคัญของฟิลิปปินส์ ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์ ซึ่งการดำเนินงานตามมาตรการของรัฐบาลก่อนหน้านี้ไม่สามารถควบคุมราคาข้าวได้ รวมไปถึงการดันเพดานราคาข้าวให้สูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม 2567 เวียดนามยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมดของประเทศ เป็นผลมาจากความนิยมบริโภคข้าวเวียดนาม เช่น พันธุ์ DT8 และ OM5451 ที่มีความนุ่มและราคาไม่สูงมาก นอกจากนี้ ข้าวของเวียดนามยังมีความสม่ำเสมอทั้งในด้านปริมาณและราคาซึ่งสอดคล้องกับความต้องการนำเข้าของฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังมีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ส่งผลต่อต้นทุนในการขนส่ง และความได้เปรียบทางการค้าจากข้อตกลงทวิภาคีและพหุภาคี เช่น ข้อตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เป็นต้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ