สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 1, 2024 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24 - 30 มิถุนายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนมิถุนายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.294 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 4.72 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2567 อีก 0.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 3.42 ของผลผลิต ข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,987 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,988 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,085 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,245 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,470 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.29

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 891 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,544 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,160 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.98 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 616 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 603 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,025 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 632 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,055 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.59 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,030 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,915 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 616 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,472 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.60 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 557 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.5253 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การประมูลข้าวสาร 10 ปี จากโครงการรับจำนำของรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา มีปริมาณเพียง 15,000 ตัน ไม่มีผลต่อราคาข้าวในตลาด แต่ปัจจัยที่จะทำให้ไทยแข่งขันลำบาก คือ ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งอย่างเวียดนาม โดยราคาส่งออกข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามประมาณตันละ 100 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 3,653 บาท) เช่น ข้าวหอมมะลิไทยตันละ 900 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 32,873 บาท) ขณะที่ข้าวเวียดนามอยู่ที่ตันละ 670 ? 680 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 24,472 ? 24,837 บาท) ประกอบกับข้าวของเวียดนามมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวอย่างอินโดนีเซียที่คาดว่าจะนำเข้าข้าวเดือนละ 3 แสนตัน มีแนวโน้มที่จะประมูลข้าวจากเวียดนาม และอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ คือ นโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียหลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะยกเลิกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และกลับมาส่งออกข้าวในไตรมาส 4 ทำให้อุปทานข้าวในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังให้สูงขึ้นด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาอินเดียมีการเก็บภาษีส่งออกข้าวในอัตราร้อยละ 20 แต่ราคาข้าวของอินเดียก็ยังต่ำกว่าไทยตันละ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 2,557 ? 2,922 บาท)

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังคงมั่นใจว่า การส่งออกข้าวของไทยในปี 2567 จะสามารถส่งออกได้ปริมาณ 8 ล้านตัน ซึ่งใกล้เคียงกับเวียดนามที่คาดว่าจะส่งออกที่ปริมาณ 8 ล้านตัน เช่นกัน โดยการส่งออกข้าวไทยในครึ่งปีแรก (มกราคม ? มิถุนายน 2567) คาดว่าจะมีประมาณ 5 ล้านตัน ส่วนครึ่งปีหลัง (กรกฎาคม ? ธันวาคม 2567) คาดว่าจะส่งออกได้เพิ่มอีก 3 ล้านตัน หรือต้องส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 5 แสนตัน ซึ่งชนิดข้าวที่มีโอกาสในการส่งออก ได้แก่ ข้าวขาว ส่วนข้าวหอมมะลิอาจแข่งขันลำบากขึ้น และข้าวนึ่งที่พึ่งพาตลาดแอฟริกา ไนจีเรีย โมซัมบิก ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ไทยส่งออกข้าวนึ่งได้เพียง 3.2 แสนตัน ลดลงร้อยละ 28 เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ทั้งนี้ ต้องติดตามสถานการณ์ราคาว่าจะยังสามารถแข่งขันได้หรือไม่ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.5253 บาท

2) บราซิล

บราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ที่สุดในซีกโลกตะวันตก ได้คาดการณ์ปริมาณการนำเข้าข้าวปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านตัน นับเป็นปริมาณการนำเข้าสูงสุดในรอบสองทศวรรษ เนื่องจากเกิดน้ำท่วมหนักในรัฐ Rio Grande do Sul ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของบราซิล ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวในปี 2566/67 ลดลงมาก คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวประมาณ 7.0 ล้านตัน ในการนี้ รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับข้าวเปลือก (100610) ข้าวเปลือก/ข้าวกล้อง (100620) และข้าวสี (100630) ได้ทุกประเทศ จากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะประเทศผู้ผลิตในกลุ่ม Mercosur เท่านั้น โดยมีผลตั้งแต่ 21 พฤษภาคม 2567 จนถึง 31 ธันวาคม 2567 และได้ประกาศนำเข้าข้าว 1.0 ล้านตัน ภายในสิ้นปี 2567 มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพของอุปทานข้าวและควบคุมราคาข้าวในประเทศ โดยวันที่ 6 มิถุนายน 2567 รัฐบาลบราซิลได้ดำเนินการเปิดประมูลข้าวครั้งแรก ประมาณ 260,000 ตัน จากที่ได้รับอนุญาต 300,000 ตัน ซึ่งบริษัทจัดหาธัญพืชแห่งชาติของบราซิล (The National Supply Company หรือ CONAB) ได้กำหนดให้ส่งมอบข้าวภายในวันที่ 8 กันยายน 2567 และจะขายข้าวในบรรจุภัณฑ์ขนาด 5 กิโลกรัม กำหนดราคาสูงสุดที่กิโลกรัมละ 0.76 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณกิโลกรัมละ 27.76 บาท)

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.5253 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ