สศก. ผสานความร่วมมือ 4 ภาคี MOU บูรณาการระดับนโยบายขับเคลื่อนความมั่นคงด้านอาหาร เดินหน้าแผนปฏิบัติการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การบูรณาการระดับนโยบาย 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และกรมอนามัย เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ พร้อมด้วยนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และ ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมลงนาม
พร้อมด้วย นางสาวปรียานุช ทิพยะวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ นางสาวกาญจนา ขวัญเมือง รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นายเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย และนายยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานคณะที่ 1 คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่และประธานคณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านการบริหารจัดการ ร่วมเป็นสักขีพยาน
โอกาสนี้ เลขาธิการ สศก. ได้กล่าวถึงทิศทางความร่วมมือตามข้อตกลง และแนวทางการดำเนินการในภาพรวมภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ โดยสรุปว่า จากที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2593 ประชากรอาจมีจำนวนสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน ในขณะที่ปัจจุบันประชากรมีจำนวนประมาณ 8,100 ล้านคน ทำให้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดว่าโลกของเราจำเป็นที่จะต้องผลิตอาหารเพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 60 จึงจะเพียงพอต่อความต้องการอาหารที่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับความมั่นคงทางอาหารต้องมีความมั่นคงในหลายมิติ โดยทาง FAO ได้มองไว้ 4 มิติ คือ มิติที่หนึ่งความพอเพียง (Availability) หมายถึงมีปริมาณอาหารอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตได้ภายในประเทศหรือนำเข้าจากต่างประเทศ มิติที่สอง การเข้าถึงอาหาร (Access) บุคคลนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ตามสิทธิภายใต้กฎหมาย การเมือง เศรษฐกิจ และสังคมย่อมมีสิทธิได้รับอาหาร มิติที่สาม การใช้ประโยชน์ (Utilization) อาหารที่รับประทานต้องมีความสะอาด ถูกสุขอนามัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ และ มิติที่สี่ เสถียรภาพ (Stability) นอกจากจะเข้าถึงอาหารหรือได้รับอาหารแล้ว ประชากรทุกคนต้องเข้าถึงอาหารที่เพียงพอตลอดเวลาด้วย ไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนอาหาร อันเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตการณ์ด้านต่าง ๆ
เมื่อมองสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารประเทศไทย นอกจากจะพิจารณาจากองค์ประกอบทั้ง 4 มิติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ต้องพิจารณาความสามารถในการพึ่งพาตนเองสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยใช้ข้อมูลอัตราการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร หรือ (Self-sufficiency ratio: หรือ SSR) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่แสดงถึงสัดส่วนของปริมาณผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศเทียบกับปริมาณผลผลิตที่ต้องใช้บริโภคภายในประเทศ โดยพบว่า ในช่วงปี 2562 - 2566 ประเทศไทยมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองของสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับสูง เนื่องจากเป็นประเทศผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ยกเว้นสินค้าเกษตรบางชนิดที่ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ได้แก่ กาแฟ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วลิสง หอมหัวใหญ่ และกระเทียม เป็นต้น
สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความมั่นคงอาหาร ซึ่งรับผิดชอบขับเคลื่อนการดำเนินงานในยุทธศาสตร์ที่ 1 ความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ ?ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มีคุณค่าทางโภชนาการ และผู้บริโภคมีพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสม? จึงมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) ด้านยุทธศาสตร์ จำนวน 8 กลยุทธ์ ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการฐานทรัพยากร และปัจจัยการผลิตอาหารเพื่อให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างมีคุณภาพเพียงพอและยั่งยืน การส่งเสริมภาคการผลิตที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเหมาะสม ตามแนวคิดเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ควบคู่กับการพัฒนาเจ้าหน้าที่เป็น Smart Officer อีกทั้งมีการส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตอาหาร และเชื่อมโยงตลาดกับการผลิตและการวิจัยพัฒนา
ในส่วนการขับเคลื่อนการดำเนินงานความมั่นคงอาหารระดับพื้นที่ สศก. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่ ดำเนินงานจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดเพื่อบริหารความมั่นคงอาหารและโภชนาการ ใช้วางแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเพื่อสร้างความมั่นคงอาหารและส่งเสริมเศรษฐกิจในชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 โดยจัดทำข้อมูลการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบด้วย ชนิดสินค้า จำนวนเกษตรกร เนื้อที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยว เนื้อที่เลี้ยงสัตว์น้ำ ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน และตลอดปีการเพาะปลูกหรือปีการผลิตในระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด รวมถึงคาดการณ์การกระจายผลผลิตจากแหล่งผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา พบว่า หน่วยงานภายในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่ได้นำข้อมูลปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัดไปใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการในระดับพื้นที่หลายด้าน เช่น จัดทำเป็นข้อมูลพื้นฐานการผลิต จัดทำแผนเฝ้าระวังโรคระบาดศัตรูพืช ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ จัดทำแผนเฝ้าระวังสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด วิจัยความคุ้มทุนของการผลิตสินค้าปศุสัตว์ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร
?การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว เป็นบูรณาการความร่วมมือในการกำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการสำคัญ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรแบบบูรณาการร่วมกัน โดยสอดคล้องตามภารกิจของหน่วยงาน และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งประเทศไทยสามารถตอบโจทย์ความมั่นคงอาหารได้เกือบทุกมิติแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในพื้นที่ต่อไป และเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือการบูรณาการทำงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการด้านอาหารในภาพรวมของประเทศ จะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยมีความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นครัวของโลกอย่างมั่นคงและยั่งยืน? เลขาธิการ สศก. กล่าว
************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : กองเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร