สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 15, 2024 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 8 - 14 กรกฎาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง

สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.095 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกรกฎาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.177 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 2.84 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567 อีก 0.036 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของผลผลิต ข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,005 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,970 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,037 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,193 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.39

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,670 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,110 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.19

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 901 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,520 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 891 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,544 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.12 แต่ลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 24 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 590 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,295 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 603 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,025 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.16 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 730 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,078 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,915 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.67 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 837 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.0933 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

ข้อมูลสถิติของกรมศุลกากรเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 รายงานว่า ในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม ? มิถุนายน 2567) ราคาข้าวเวียดนามปรับตัวสูงขึ้นในตลาดต่างประเทศหลายแห่ง โดยราคาส่งออกข้าวสูงขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 18 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 รายงานระบุว่า ราคาข้าวเวียดนามในตลาดบรูไนจำหน่ายที่ตันละ 959 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณตันละ 34,613 บาท) ในตลาดสหรัฐอเมริกาตันละ 868 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 31,329 บาท) ในตลาดเนเธอร์แลนด์ตันละ 857 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 30,932 บาท) ในตลาดยูเครนตันละ 847 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 30,571 บาท) ในตลาดอิรักตันละ 836 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 30,174 บาท) และในตลาดตุรกีตันละ 831 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 29,994 บาท) นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งปีแรกเวียดนามส่งออกข้าวได้ประมาณ 4.68 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.98 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.08 แสนล้านบาท) โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 10.4 และร้อยละ 32.0 ตามลำดับ ซึ่งมีการส่งออกไปยังฝรั่งเศสมากที่สุดที่ปริมาณ 18,200 ตัน คิดเป็นมูลค่า 19.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 689 ล้านบาท) ทั้งนี้ เวียดนามได้ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวในปี 2567 มากกว่า 8 ล้านตัน

ที่มา สำนักข่าวซินหัว, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.0933 บาท

2) อินเดีย

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า อินเดียผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกอาจผ่อนคลายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวบางชนิดที่ได้ประกาศใช้เมื่อปี 2566 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาปริมาณข้าวที่มากเกินความต้องการภายในประเทศ ก่อนที่ข้าวในฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่จะออกสู่ตลาดในเดือนตุลาคม 2567 โดยรัฐบาลกำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวในอัตราภาษีคงที่ รวมทั้งอาจจะยกเลิกภาษีส่งออกข้าวนึ่งที่อัตราร้อยละ 20 และเปลี่ยนมาใช้วิธีการจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่แทน เพื่อควบคุมสินค้าที่มีการออกใบแจ้งหนี้ต่ำเกินจริง ในการนี้ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ กล่าวว่า การที่รัฐบาลอินเดียจำกัดการส่งออกข้าวตั้งแต่ ปี 2566 ส่งผลให้อินเดียต้องเผชิญกับปัญหาการมีสต็อกข้าวสูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ราคาข้าว ในเอเชียชะลอตัวลง หลังจากราคาปรับตัวสูงขึ้นและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และถือเป็นข่าวดีสำหรับหลายประเทศในทวีปแอฟริกาตะวันตกและภูมิภาคตะวันออกกลางที่พึ่งพาการนำเข้าจากอินเดีย เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของประชากรในประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดีย รายงานว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (เดือนเมษายน ? พฤษภาคม) ปริมาณส่งออกข้าวรวมของอินเดียอยู่ที่ 2.9 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 สำหรับพื้นที่ปลูกข้าว ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 6 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 37.5 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ขณะนี้เกษตรกรอยู่ระหว่างการหว่านเมล็ดพันธุ์เพื่อเพาะปลูกข้าวในฤดูมรสุม (ฤดูฝน) คาดว่าจะมีการเพาะปลูกข้าวมากที่สุดในเดือนกรกฎาคม และจะเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ), สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ