สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 23, 2024 14:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 กรกฎาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.095 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกรกฎาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.177 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 2.84 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567 อีก 0.036 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของผลผลิต ข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,003 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,005 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,029 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,037 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.07

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 19,670 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.14

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 913 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,731 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 901 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,520 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.33 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 211 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,936 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 590 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,295 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 359 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 587 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,044 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,078 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 34 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.8501 บาท

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกรกฎาคม 2567 ผลผลิต 528.173 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 520.874 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกรกฎาคม 2567 มีปริมาณผลผลิต 528.173 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.40 การใช้ในประเทศ 527.270 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.80 การส่งออก/นำเข้า 54.299 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.50 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 178.088 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.51

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย กัมพูชา บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา จีน กายานา และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล ไอเวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เม็กซิโก โมซัมบิก สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น โซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล เคนยา และคาเมรูน
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture: USDA) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การนำเข้าข้าวฟิลิปปินส์เป็น 4.7 ล้านตัน ในปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 จากที่ประมาณการในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ 4.2 ล้านตัน เนื่องจากมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ประกอบกับคณะกรรมการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (The National Economic and Development Authority: NEDA) ได้เห็นชอบการลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากร้อยละ 35 เป็นร้อยละ 15 ไปจนถึงปี 2571 ทั้งนี้ สำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BPI) ระบุว่า ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวแล้ว 2.17 ล้านตัน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของการคาดการณ์จาก USDA ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่มาจากเวียดนามและไทย โดยนำเข้าจากเวียดนามปริมาณ 1.52 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 72.7 และไทยปริมาณ 319,740.74 ตัน คิดเป็นร้อยละ 15.3 ของการนำเข้าทั้งหมด นอกจากนี้ USDA ยังได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การบริโภคข้าวของฟิลิปปินส์เป็น 17.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากประมาณการปี 2566 ที่ 16.8 ล้านตัน ทั้งนี้ หน่วยงานสภาพอากาศของรัฐบาล (Philippine Atmospheric, Geophysical and Astronomical Services Administration: PAGASA) ได้ประกาศการสิ้นสุดของปรากฏการณ์เอลนีโญ และกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม ? กันยายน 2567 มีโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ร้อยละ 69 นอกจากนี้ นาย Michael L. Ricafort หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Rizal Commercial Banking Corp ระบุว่า การเตรียมการรับมือสำหรับการเกิดปรากฏการณ์ลานีญาอาจนำไปสู่การนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2567 เพื่อเพิ่มอุปทานในตลาดท้องถิ่นและควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งในแต่ละปีฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้าข้าวประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการข้าวทั้งหมด ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

2) อิหร่าน

นาย Masih Keshavarz เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตและผู้จำหน่ายข้าวอิหร่าน (The Iranian Rice Exporters Supplier and Importers Association) เปิดเผยถึงการนำเข้าข้าวในปี 2567 ว่า ผู้ประกอบการค้าข้าวของอิหร่าน ต้องเร่งนำเข้าข้าวให้ได้ปริมาณ 3 แสนตัน ก่อนช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลห้ามนำเข้าข้าว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวภายในประเทศ โดยจะเริ่มในวันที่ 22 กรกฎาคม ? 20 พฤศจิกายน 2567 ทั้งนี้ ในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 21 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2567) อิหร่านนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 2 แสนตัน โดยสมาคมผู้ผลิตและผู้จำหน่ายข้าวอิหร่านได้เสนอให้มีการนำเข้าข้าวในปริมาณ 6 ? 8 แสนตัน เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการข้าวในช่วงเทศกาลถือศีลอดและเทศกาลปีใหม่ของอิหร่าน (ประมาณเดือนเมษายน - พฤษภาคมของทุกปี) ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการข้าวภายในประเทศสูง แต่ปัจจุบันปริมาณข้าวที่นำเข้ามาจริงเป็นเพียง 1 ใน 4 ของปริมาณข้าวที่สมาคมฯ ได้เสนอ หากรัฐบาลไม่สามารถนำเข้าข้าวจำนวน 3 แสนตัน ได้ทันก่อนเข้าฤดูกาลดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนข้าวในตลาด ไม่สามารถขนถ่ายข้าวออกจากศุลกากรได้ทันเวลาและมีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามมา เช่น ค่าเสื่อมเสียของสินค้า ค่าเช่าโกดังสินค้า ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อความสมดุลของตลาดและปริมาณความต้องการข้าวภายในประเทศ รวมทั้งราคาข้าวอาจปรับสูงขึ้นเช่นเดียวกับปี 2565 ที่ผ่านมา

จากสถิติการนำเข้าข้าวของอิหร่านในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2564 อิหร่านนำเข้าข้าวจำนวน 0.85 ล้านตัน ปี 2565 นำเข้าข้าวจำนวน 1.8 ล้านตัน และในปี 2566 นำเข้าข้าวจำนวน 1 ล้านตัน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลอิหร่านสามารถควบคุมราคาข้าวในตลาดที่ปรับตัวสูงในปี 2565 ให้คงที่และผันผวนน้อยลงได้ จากการอนุญาตให้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศได้ในจำนวนที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ข้าวที่นำเข้ามีราคาค่อนข้างต่ำกว่าข้าวที่ผลิตได้ในประเทศ ประกอบกับกำลังซื้อที่ไม่สูงมากของผู้บริโภคส่วนใหญ่ และประชากรที่อาศัยอยู่ทางจังหวัดชายแดนนิยมบริโภคข้าวนำเข้ามากกว่า จากการสำรวจตลาด พบว่า ข้าวของอินเดียในร้านขายส่งมีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 460,000 เรียล (กิโลกรัมละ 395.60 บาท) และข้าวของปากีสถานราคากิโลกรัมละ 520,000 - 530,000 เรียล (กิโลกรัมละ 447.20 ? 455.80 บาท) โดยพ่อค้าขายปลีกจะคิดกำไรเพิ่มอีกร้อยละ 30 ? 40 จากราคาขายส่ง ดังนั้น ข้าวของอินเดียในร้านค้าปลีกจะขายในราคากิโลกรัมละ 500,000 เรียล (กิโลกรัมละ 430.00 บาท) และข้าวของปากีสถานขายในราคากิโลกรัมละ 600,000 เรียล (กิโลกรัมละ 516.00 บาท)

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เรียลอิหร่าน เท่ากับ 0.00086 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ