สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 22 - 28 กรกฎาคม 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.095 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.35 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด 2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกรกฎาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.177 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 2.84 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567 อีก 0.036 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.58 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,020 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,003 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.11
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,754 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,029 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.49
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 19,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 909 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,649 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 913 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,731 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44 และลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 82 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 592 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,263 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,936 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 327 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,976 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 587 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,044 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 68 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.9177 บาท
2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม รายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - มิถุนายน) เวียดนามส่งออกข้าว 4.68 ล้านตัน มูลค่า 2,980 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 107,035 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 104 และร้อยละ 32 ตามลำดับ โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม หรือคิดเป็นร้อยละ 35 ? 40 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมข้าวของเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในด้านการผลิต การบริโภคภายในประเทศ และการส่งออก ตามสถานการณ์ตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งเวียดนามให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพ ลดต้นทุน ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ลดการปล่อยมลพิษ สร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ขยายตลาดส่งออก และสร้างแบรนด์ข้าวที่ยั่งยืนในตลาดต่างประเทศ การผลิตข้าวมีบทบาทสำคัญในการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาหารของประเทศและในภูมิภาค ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม และยกระดับสถานะของเวียดนามในระหว่างประเทศด้วยกลยุทธ์การเกษตรและการพัฒนาชนบทที่ยั่งยืนภายในปี 2573 พร้อมวิสัยทัศน์ถึงปี 2588 และเวียดนามตั้งเป้าไปที่ห่วงโซ่คุณค่าการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปล่อยมลพิษต่ำ
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.9177 บาท
นาย Francisco Tiu Laurel Jr รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 2.17 ล้านตัน เป็นการนำเข้าจากเวียดนาม 1.59 ล้านตัน ขณะที่สำนักงานอุตสาหกรรมพืช กรมวิชาการเกษตรของฟิลิปปินส์ (Department of Agriculture?s Bureau of Plant Industry: DA-BPI) คาดว่าการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์ ในปี 2567 จะสูงถึง 4 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บสต็อกไว้ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและผลกระทบของสภาพอากาศต่อการผลิตข้าวในอนาคต ประกอบกับการผลิตข้าวในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค
ในการนี้ ฟิลิปปินส์จึงต้องการเสริมความร่วมมือกับเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์มานานหลายปี รวมถึงต้องการให้บริษัทข้าวของเวียดนามพิจารณาการลงทุนในฟิลิปปินส์เพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศหลังจากมีความต้องการข้าวมากขึ้น ประกอบกับอุปทานข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยฟิลิปปินส์ขอให้เวียดนามจัดตั้งพันธมิตรอุตสาหกรรมข้าวระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทางการค้าข้าวกลายเป็นหุ้นส่วนการลงทุน รวมทั้งศึกษาและนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีจากเวียดนาม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเพาะปลูกข้าวในฟิลิปปินส์ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้เวียดนามสามารถส่งเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่การผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ แทนการส่งออกข้าวสีเพียงอย่างเดียว
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร