สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2024 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 12 - 18 สิงหาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567

หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนสิงหาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 1.911 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 7.07 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนสิงหาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.016 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.25 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม 2567 อีก 0.020 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.33 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,189 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,113 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.50

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,715 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,774 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,450 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 34,170 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 18,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 969 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,729 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 935 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,852 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.64 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 877 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 586 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,397 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 580 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,379 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 589 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,502 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 583 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,484 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8079 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยอยู่ในภาวะวิกฤต ข้าวพื้นเมืองหลายสายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ไป เช่น ข้าวหอมปทุมธานี และข้าว กข79 ที่ปัจจุบันมีผลผลิตลดลงมาก เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนาม โดยเฉพาะข้าวหอมพวงหรือข้าวหอมมะลิเวียดนามที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูงถึง 1,200 ? 1,500 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาปลูกสั้นเพียง 90 ? 100 วัน สามารถปลูกและขายได้ตลอดทั้งปี ทนทานต่อโรคและศัตรูพืช

นอกจากนี้ ข้าวพันธุ์พื้นนุ่มของเวียดนามยังมีหลายสายพันธุ์ตรงกับความต้องการของตลาดโลก ในขณะที่ข้าวหอมปทุมธานีให้ผลผลิตต่อไร่ 800 ? 900 กิโลกรัม ใช้เวลาปลูกนานถึง 4 เดือน อีกทั้งมีความอ่อนแอและไม่ทนทานต่อศัตรูพืช เกษตรกรจึงปลูกข้าวหอมปทุมฯ ลดลง สำหรับข้าวหอมมะลิ คาดว่าอีกไม่นานเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะปลูกลดลงและหันไปปลูกข้าวขาวแทน เนื่องจากข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตต่อไร่เพียง 350 ? 400 กิโลกรัม ปลูกได้ปีละ 1 ครั้ง ขณะที่ข้าวขาวให้ผลผลิตต่อไร่ 600 ? 800 กิโลกรัม สามารถปลูกและขายได้ปีละ 2 ครั้ง และในอนาคตคาดว่าเกษตรกรไทยจะหันไปปลูกข้าวทุกสายพันธุ์ของเวียดนามและจีน เพราะรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศกำลังมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ มีข้าวสายพันธุ์ดีและหลากหลายตรงกับความต้องการของแต่ละตลาด ซึ่งจะยิ่งทำให้ข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองของไทยหายไป และอาจส่งผลให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก โดยอินเดียเป็นอันดับ 1 เวียดนามอันดับ 2 และจากนั้นจีนอาจเป็นผู้ส่งออกอันดับ 3 แทนเพราะไทยที่ไม่มีสินค้าข้าวใหม่ๆ

ทั้งนี้ ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยควรเร่งพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆที่ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากขึ้น และให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้านทานโรค เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่อนุญาตให้นำพันธุ์ข้าวจากต่างประเทศมาศึกษา วิจัย และพัฒนาร่วมกับสายพันธุ์ข้าวไทย เพราะกฎหมายดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวไทย ตลอดจนการพัฒนาแหล่งชลประทาน

ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

2) จีน

จีนมีโอกาสกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกในอนาคต โดยในปี 2566 จีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 8 ของโลก ที่ปริมาณ 1.6 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันจีนได้นำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการเพาะปลูกข้าวมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ชลประทานทำให้หลายพื้นที่ในจีนเริ่มปลูกข้าวได้ ประกอบกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่นิยมบริโภคข้าวที่ผลผลิตในประเทศมากกว่าข้าวที่นำเข้าเพราะมีราคาถูกกว่า รวมทั้งปริมาณสต็อกข้าวในประเทศสูงถึง 100 ? 120 ล้านตัน ซึ่งมีปริมาณมากที่สุดจากอดีตที่มีสต็อกเพียง 30 ล้านตัน หากรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมที่ดีและมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้จีนกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกได้

สำหรับการผลิต ในปี 2568 คาดว่าจีนจะมีปริมาณผลผลิต 146 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 144.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ถือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลก รองลงมา ได้แก่ อินเดีย มีปริมาณ 138 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 177.0 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 บังกลาเทศ 38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 37 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 อินโดนีเซีย 34 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่มีปริมาณ 33 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ส่วนเวียดนามและไทยทรงตัวที่ 27 ล้านตัน และ 20.1 ล้านตัน ตามลำดับ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ