สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.017 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนตุลาคม 2567 อีก 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,313 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,231 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,779 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,778 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 35,330 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 35,070 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.74
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,011 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,113 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 988 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,671 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.33 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 442 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,313 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 589 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,073 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.21 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 240 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,313 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 592 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,176 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 137 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7423 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโอซากา รายงานว่า ราคาข้าวสารในญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาขายส่ง ณ เดือนกรกฎาคม 2567 อยู่ที่ 15,626 เยนต่อ 60 กิโลกรัม (ประมาณ 3,611 บาทต่อ 60 กิโลกรัม หรือ 60 บาทต่อกิโลกรัม) สูงขึ้นร้อยละ 13 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดในรอบ 10 ปี ด้านปริมาณสต็อกข้าวสารทั่วประเทศลดลงถึง 410,000 ตัน โดย ณ เดือนมิถุนายนมีสต็อกข้าวสารปริมาณ 1.56 ล้านตัน เป็นปริมาณต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2542 ส่งผลให้ราคาขายปลีกปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2,500 เยนต่อ 5 กิโลกรัม (ประมาณ 577 บาทต่อ 5 กิโลกรัม หรือ 115 บาทต่อกิโลกรัม) สูงขึ้นร้อยละ 66.67 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่ราคา 1,500 เยน ต่อ 5 กิโลกรัม (ประมาณ 347 บาทต่อ 5 กิโลกรัม หรือ 69 บาทต่อกิโลกรัม) และราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยในเดือนสิงหาคมปรับขึ้นอีกประมาณ 400 เยนต่อ 5 กิโลกรัม (ประมาณ 92 บาทต่อ 5 กิโลกรัม หรือ 18 บาทต่อกิโลกรัม) ทำให้ร้านซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งได้ยกเลิกการจำหน่ายข้าวสารราคาประหยัด รวมถึงการจำกัดการซื้อข้าวสารจำนวนสองถุงต่อครอบครัว
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาข้าวปรับสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในฤดูกาลเพาะปลูกที่แล้วส่งผลให้เมล็ดข้าวบิ่นและหัก ประกอบกับความต้องการบริโภคในธุรกิจบริการร้านอาหารเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว และเทรนด์การรับประทานอาหารนอกบ้านหลังสถานการณ์ Covid-19 คลี่คลาย รวมทั้งราคาขนมปังและบะหมี่สูงขึ้นทำให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคข้าวแทน นอกจากนี้ หลังจากมีคำเตือนแผ่นดินไหวใหญ่ใน?แอ่งนันไค? เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ชาวญี่ปุ่นเกิดความตื่นตระหนกและมีการกักตุนสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ โดยเฉพาะข้าวสาร ส่งผลให้สถานการณ์ข้าวสารขาดแคลนรุนแรงขึ้น
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เยน เท่ากับ 0.2311 บาท
ตรินิแดดและโตเบโกเป็นประเทศในภูมิภาคแคริบเบียน ซึ่งเป็นภูมิภาคที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและความท้าทายของตรินิแดดและโตเบโก คือ ภาคการเกษตร การเพาะปลูก และการผลิตข้าวในประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนพื้นที่ กำลัง และอัตราการผลิตอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณข้าวที่ผลิตได้ภายในประเทศ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ โดยสาเหตุที่ทำให้ตรินิแดดและโตเบโกเผชิญกับปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย 1) การชำระหนี้ที่ล่าช้าของรัฐวิสาหกิจโรงโม่แป้ง (NFM) ที่ทำหน้าที่เป็นโรงสีข้าวหลัก แต่ไม่สามารถชำระค่าข้าวให้กับเกษตรกรได้ตรงตามเวลา 2) เกษตรกรอยู่ในภาวะเป็นหนี้สิน สืบเนื่องมาจากเหตุผลข้อที่หนึ่งบางส่วนและผลกระทบในด้านการเพาะปลูก 3) ต้นทุนในการเพาะปลูกสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตรมีราคาสูง 4) ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าว 5) ปริมาณผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 6) ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาพอากาศ 7) ขาดแคลนอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม 8) ปัญหาระบบชลประทานและสิ่งแวดล้อม และ 9) ปัญหาเชิงนโยบายจากภาครัฐที่ไม่ได้สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรเท่าที่ควร
ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกและการผลิตข้าวในประเทศ โดยการนำบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนในการจัดตั้งโรงสีในประเทศ เพื่อเป็นอีกหนึ่งหนทางในการลดปริมาณการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศและเป็นการเพิ่มการจ้างงานในเวลาเดียวกัน ในการนี้ ได้มีตัวแทนเกษตรกรตั้งคำถามถึงผลลัพธ์จากความพยายามที่จะตั้งโรงสีของรัฐบาล ขณะที่กำลังการผลิตข้าวในประเทศยังขาดแคลนอยู่นั้นการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาในทิศทางใด ตลอดจนการนำนักลงทุนต่างชาติเข้ามาจะทำให้โรงสีและธุรกิจการผลิตข้าวท้องถิ่นได้รับผลกระทบอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร