สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 9, 2024 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 กันยายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.017 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนตุลาคม 2567 อีก 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 การตลาด

1.2.1 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี

3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4

1.2.2 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2567/68 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่เกษตรกร โดยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ทั้งนี้ กรรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ และ (7) ช้างป่า

1.3 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,378 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,313 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.43

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,690 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,779 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 36,370 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 35,330 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.94

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,610 บาท ราคาลดลงจากตันละ 18,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.75

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,034 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,899 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,011 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,113 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 786 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,184 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,313 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 129 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,184 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 602 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,313 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 129 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7517 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development: MARD) ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม ? สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 6.16 ล้านตัน มีมูลค่าประมาณ 3.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 129.94 พันล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2566 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และร้อยละ 21.7 ตามลำดับ โดยราคาส่งออกเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนอยู่ที่ประมาณ 542 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (ประมาณ 18,293.42 บาทต่อตัน) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ร้อยละ 11.5 ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 เวียดนามตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวมากกว่า 8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 168.76 พันล้านบาท) เนื่องจากหน่วยงานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ (Bulog) ของอินโดนีเซียยังคงต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มเติมอีกประมาณ 0.9 ล้านตัน ภายในปี 2567 เป็นผลมาจาก การคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะลดลง ประกอบกับการปลูกข้าวอาจล่าช้ากว่ากำหนด

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ คาดว่าตลาดข้าวหลักหลายแห่งของเวียดนาม เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน จะมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7517 บาท

2) กัมพูชา ? อินโดนีเซีย

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ รายงานว่า กัมพูชาและอินโดนีเซียเตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MoU) เกี่ยวกับการค้าข้าวและเที่ยวบินตรง ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างรัฐบาลอินโดนีเซียและกัมพูชา ผ่านหน่วยงานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติ (The State Logistics Agency ? BULOG) ของอินโดนีเซีย และ Green Trade ของกัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเชื่อมโยงและอำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม รวมทั้งส่งเสริมเที่ยวบินตรงระหว่างสองประเทศมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจ Perum BULOG ของอินโดนีเซียจะเข้ามาลงทุนในกัมพูชาด้านการเกษตร เช่น โรงสีข้าว และคลังสินค้า

ทั้งนี้ อินโดนีเซียถือเป็นตลาดข้าวที่สำคัญของกัมพูชา โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 (เดือนมกราคม - กรกฎาคม) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียปริมาณ 22,500 ตัน หาก MoU ว่าด้วยการค้าข้าวของกัมพูชาและอินโดนีเซียมีผลบังคับใช้ จะทำให้กัมพูชาสามารถส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียได้สูงถึง 250,000 ตันต่อปี นับตั้งแต่ปี 2567 - 2571 และคาดว่าการค้าข้าวและการท่องเที่ยวระหว่างกัมพูชาและอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้กัมพูชามีตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ