สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 กันยายน 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.017 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนตุลาคม 2567 อีก 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,472 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,378 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,743 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,690 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 36,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 36,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.32
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 18,610 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.41
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,052 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,507 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,034 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,899 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.74 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 608 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,508 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,184 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 676 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 581 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,610 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,184 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 574 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4224 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยปี 2565/66 ไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.1 ของผลผลิตข้าวทั่วโลก รองจากจีน อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และเวียดนาม นับตั้งแต่สงครามความขัดแย้งที่เริ่มต้นปี 2565 ส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด ข้าวสาลี ฯลฯ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกหันมาซื้อข้าวเป็นสินค้าทดแทน รวมถึงผู้นำเข้าบางรายต้องนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกข้าวในประเทศไปปลูกข้าวโพดและข้าวสาลีแทน ส่งผลให้ไทยส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 ไทยมีปริมาณส่งออกข้าว 8.8 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่า 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 170.45 พันล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.4 ในปี 2567 ในช่วงครึ่งปีแรก ตลาดส่งออกโดยรวมยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งสำคัญยังคงมาตรการระงับการส่งออกข้าวขาว ทำให้ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการสำรองข้าวเพื่อความมั่นคงทางอาหารที่ยังคงมีอยู่ ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และความเสี่ยงจากภาวะเอลนีโญ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี (เดือนมกราคม ? มิถุนายน) ไทยส่งออกข้าว 5.1 ล้านตันข้าวสาร คิดเป็นมูลค่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 110.29 พันล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.1 โดยมีตลาดส่งออกข้าวหลัก คือ อินโดนีเซีย มีสัดส่วนร้อยละ 20.5 รองลงมา ได้แก่ อิรัก ร้อยละ 9.9 สหรัฐอเมริกา ร้อยละ 7.9 แอฟริกาใต้ ร้อยละ 7.2 และฟิลิปปินส์ ร้อยละ 5.7 เป็นการส่งออกผลิตภัณฑ์ประเภทข้าวขาว ปลายข้าว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว ซึ่งไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และคาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะมีประมาณ 8.8 ? 9 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 - 2.5 อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีหลังอาจมีแนวโน้มปรับลดลงอยู่ที่ประมาณ 7.8 ? 8 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะอินเดีย เวียดนาม และปากีสถาน มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาหลังจากปัญหาด้านอุปทานเริ่มคลี่คลายลง
ที่มา วิจัยกรุงศรี , ไทยรัฐออนไลน์
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4224 บาท
สหพันธ์ข้าวเมียนมา (Myanmar Rice Federation: MRF) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567/68 (เดือนเมษายน ? สิงหาคม) เมียนมาส่งออกข้าวสารและปลายข้าวปริมาณ 0.72 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 353 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 11,798.11 ล้านบาท) โดยในเดือนสิงหาคมส่งออก 0.21 ล้านตัน มูลค่า 97 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,241.97 ล้านบาท) เป็นการส่งออกทั้งทางทะเลและทางบกไปยัง 30 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย จีน ฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ และเบลเยียม สำหรับปีงบประมาณ 2566/67 ส่งออกข้าวได้มากกว่า 1.6 ล้านตัน มูลค่า 845 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28,241.93 ล้านบาท)
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4224 บาท
สำนักงานอาหารแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า อินโดนีเซียตั้งเป้าสำรองข้าวปริมาณ 2 ล้านตัน ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2567 เพื่อเตรียมรับมือกับความต้องการข้าวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเลือกตั้งระดับภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับการผลิตภายในประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายปี 2567 ? ต้นปี 2568 โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 2 กันยายน 2567) อินโดนีเซียมีปริมาณข้าวสำรองอยู่ที่ประมาณ 1.39 ล้านตัน แบ่งเป็นข้าวสารที่อยู่ในสต็อกแล้วปริมาณ 1.31 ล้านต้น และเป็นข้าวสารที่อยู่ระหว่างการนำเข้าปริมาณ 0.08 ล้านต้น
ในขณะที่ นาย Bayu Krisnamurthi กรรมการผู้จัดการของหน่วยงานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติอินโดนีเซีย (President Director of Perum Bulog) ได้ประกาศแผนการนำเข้าข้าวในปี 2567 ประมาณ 3.6 ล้านตัน โดยกำหนดให้ส่งมอบภายในสิ้นปี 2567 ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวแล้ว 2.4 ล้านตัน ส่วนข้าวที่เหลืออีกประมาณ 1.2 ล้านตัน คาดว่าจะมาถึงก่อนเดือนธันวาคม 2567
ที่มา สำนักข่าวซินหัว , สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา รายงานว่า จากการประกาศใช้มาตรการยกเว้นอากรศุลกากร (อัตราภาษีร้อยละศูนย์) ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารไนจีเรีย เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกลางสั่งการให้กรมศุลกากรไนจีเรียยกเว้นอากรศุลกากรเป็นระยะเวลา 150 วัน เพื่อการนำเข้าข้าวโพด ข้าวกล้อง และข้าวสาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการแก้ไขปัญหาภาวะเงินเฟ้อด้านอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศ แต่ยังคงมีความล่าช้าในทางปฏิบัติและในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ในการนี้ เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 หน่วยงานความมั่นคงที่จัดโดยสำนักงานที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายการสื่อสารเชิงยุทธศาสตร์ และโฆษกของกรมศุลกากรไนจีเรีย จึงได้แถลงถึงสาเหตุที่ยังไม่มีการนำคำสั่งดังกล่าวไปปฏิบัติ ว่า เนื่องจากยังไม่ได้รับรายชื่อบริษัทผู้นำเข้าอาหารหรือผู้รับประโยชน์จากการยกเว้นอากรจากกระทรวงการคลัง แต่เมื่อไรก็ตามที่กรมศุลกากรได้รับรายชื่อแล้วจะปฏิบัติตามคำสั่งทันที
อย่างไรก็ตาม นโยบายระบุเกณฑ์คุณสมบัติอย่างชัดเจนว่าผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีต้องเป็นผู้สีข้าว ผู้เสียภาษี และดำเนินกิจการมาเป็นเวลาหลายปี จึงจะได้โควตาที่ออกโดยกระทรวงการคลังของรัฐบาลกลาง ดังนั้น รายชื่อผู้ได้รับประโยชน์จากการยกเว้นดังกล่าวจะมาจากกระทรวงการคลัง และบทบาทของกรมศุลกากรไนจีเรียในฐานะหน่วยงานของรัฐบาล คือ การปฏิบัติตามคำสั่งและตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ผู้กำหนดนโยบาย
ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงอาบูจา , สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร