สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 23, 2024 15:26 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 กันยายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.017 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนตุลาคม 2567 อีก 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,500 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,472 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,693 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,743 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 36,850 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 17,790 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.57

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,110 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,625 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,052 ดอลลาร์สหรัฐฯ (35,160 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.51 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,465 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,972 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,318 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 346 บาท ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 581 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,170 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 248 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9955 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกันยายน 2567 ผลผลิต 527.312 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 520.648 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.28

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกันยายน 2567 มีปริมาณผลผลิต 527.312 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.28 การใช้ในประเทศ 527.455 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.85 การส่งออก/นำเข้า 54.019 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2566/67 ร้อยละ 2.65 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 177.238 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.08

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย จีน บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา กายานา ออสเตรเลีย และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เวียดนาม ซาอุดิอาระเบีย ไอเวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ อิหร่าน
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กานา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น โซมาเลีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล เม็กซิโก เคนยา โมซัมบิก และคาเมรูน
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวน เป็นอย่างมาก โดยเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 33.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแข็งค่ามากที่สุดในรอบ 19 เดือน เมื่อเทียบกับในช่วง 1 เดือนก่อนหน้า (เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567) ค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.49 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 5.6 ทำให้ผู้ส่งออกข้าวไทยทำงานลำบากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถตั้งราคาขายได้ เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผู้ส่งออกจึงต้องเสนอราคาขายข้าวสารในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งที่ค่าเงินไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงประเทศคู่ค้าก็ไม่กล้าสั่งซื้อข้าวจากไทยและหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า ทั้งนี้ ผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ผันผวนและแข็งค่าขึ้นดังกล่าว จะทำให้ปริมาณการส่งออกในแต่ละเดือนปรับลดลง และจะส่งผลต่อราคาข้าวสารและข้าวเปลือกในประเทศด้วยเช่นกัน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากไทยต้องการผลักดันการส่งออกข้าวทั้งปี 2567 ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8.2 ล้านตัน จำเป็นต้องลดราคาข้าวในประเทศลง เพื่อให้ราคาข้าวไทยสามารถแข่งขันได้ เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 10 ก็ต้องลดราคาข้าว ในประเทศลงมาร้อยละ 10 เป็นต้น

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า การส่งออกข้าวไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 มีปริมาณ 604,579.6 ตัน มูลค่า 399.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 13,168.50 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีปริมาณ 606,143.5 ตัน มูลค่า 345.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 11,396.65 ล้านบาท) โดยปริมาณลดลง ร้อยละ 0.3 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ขณะที่ในช่วง 7 เดือนของปี 2567 (มกราคม ? กรกฎาคม) ไทยส่งออกข้าวปริมาณ 5,684,843 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,702.91 ล้านดอลลาร์หรัฐฯ (ประมาณ 122,179.37 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีปริมาณ 4,661,327 ตัน มูลค่า 2,576.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 85,016.21 ล้านบาท) ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และร้อยละ 51

ที่มา สำนักข่าวอิศรา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.9955 บาท

2) บังกลาเทศ

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงธากา รายงานว่า เกษตรกรในบังกลาเทศจะปลูกข้าวในสามฤดู ได้แก? 1) ฤดูโบโร (Boro) เริ่มปลูกในเดือนธันวาคม ? มกราคม และเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน ? พฤษภาคม 2) ฤดูออซ (Aus) เริ่มปลูกในเดือนเมษายน ? พฤษภาคม และเก็บเกี่ยวในเดือนสิงหาคม ? กันยายน และ 3) อามาน (Aman) เริ่มปลูกในเดือนสิงหาคม ? กันยายน และเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน ? ธันวาคม โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ?ว่า ปีการผลิต 2567/68 บังกลาเทศจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 71.8 ล้านไร่ ผลผลิต 36.8 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2566/67 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 73.4 ล้านไร่ ผลผลิต 37.0 ล้านตันข้าวสาร ทั้งพื้นที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตลดลงร้อยละ 2.18 และร้อยละ 0.54 ตามลำดับ พื้นที่เก็บเกี่ยวคาดว่าลดลง เนื่องจากในฤดู Aus และ Aman มีฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ประกอบกับเกษตรกรหันไปปลูกมัสตาร์ดทดแทนการปลูกข้าวรวมถึงการขาดแคลนพันธุ์ข้าวในฤดู Aus ส่งผลให้ผลผลิตข้าวรวมของประเทศลดลง

ข้อมูลสำนักงานการค้าแห่งบังกลาเทศ (Trade Corporation of Bangladesh: TCB) รายงานว่า ราคาข้าวทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2567 โดยสัปดาห์ที่สองของเดือนสิงหาคม 2567 ราคาขายปลีกข้าวคุณภาพสูงเกรดทั่วไป เฉลี่ยกิโลกรัมละ 71 ตากา (กิโลกรัมละ 19.67 บาท) และราคาขายปลีกข้าวหักเกรดต่ำ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 52 ตากา (กิโลกรัมละ 14.40 บาท) สูงขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2567 ร้อยละ 2 และร้อยละ 4 ตามลำดับ ซึ่งราคาข้าวยังได้รับผลกระทบจากการประท้วงครั้งใหญ่ของนักศึกษาทั่วประเทศ และเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานข้าวหยุดชะงัก ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น และราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ TCB ยังคาดการณ์ว่า ราคาข้าวทุกประเภทจะยังคงสูงขึ้นจนกว่าจะถึงการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดู Aman ช่วงเดือนตุลาคม 2567 และคาดว่าบังกลาเทศจะยังไม่นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เนื่องจากมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดียส่งผลให้ราคาข้าวจากประเทศผู้ส่งออกสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงกว่าราคาข้าวภายในประเทศ ทั้งนี้ จากการผลิตที่ลดลงและราคาข้าวที่ปรับตัวสูงขึ้น กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จึงคาดการณ?ว่าในปี 2567/68 การบริโภคข้าวของบังกลาเทศจะลดลงเหลือ 37.7 ล้านตัน ในขณะที่การบริโภคข้าวสาลีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากแป้งสาลียังคงมีราคาถูกกว่าข้าว และในด้านสต็อกข้าวปลายปี คาดว?จะมีประมาณ 1.02 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 46.9 ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ตากา เท่ากับ 0.2770 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ