สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 23 - 29 กันยายน 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.212 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.18 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์ คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนกันยายน 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.017 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าเหลือผลผลิตในเดือนตุลาคม 2567 อีก 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,585 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,500 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,555 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,693 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.30
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 37,570 บาท ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 36,850 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.95
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,810 บาท ราคาลดลงจากตันละ 17,510 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.00
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,129 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,671 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,110 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,625 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.71 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 46 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,514 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,972 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 458 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,709 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 581 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,170 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.86 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 461 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4809 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
นาย Do Ha Nam รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) เปิดเผยว่า ภาพรวมข้าวของเวียดนาม ในช่วงปี 2565 ? 2566 มีการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแดงเพื่อใช้สำหรับการบริโภคในประเทศ และในพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำโขงใช้สำหรับการส่งออกร้อยละ 50 ขณะที่พื้นที่เพาะปลูกและผลผลิตข้าวยังมีประมาณคงเดิม แต่ด้านการส่งออกกลับมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ อาเซียนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 รองลงมา คือ แอฟริการ้อยละ 20 และสหรัฐร้อยละ 11.25 เมื่อพิจารณาจากประเทศผู้นำเข้าข้าวของเวียดนาม พบว่า ฟิลิปปินส์นำเข้ามากที่สุดในสัดส่วนร้อยละ 38.55 รองลงมา คือ อินโดนีเซียร้อยละ 14.34 สำหรับประเภทข้าวที่มีการส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวหอม ข้าวพันธุ์OM ข้าวขาว และข้าวหัก
ในปี 2567 พื้นที่เพาะปลูกข้าวของเวียดนามปรับลดลง เนื่องจากมีการปลูกพืชอื่นทดแทน และการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น ภัยแล้ง ภาวะน้ำเค็ม และพายุ สำหรับด้านการส่งออก ในช่วงเดือนมกราคม ? สิงหาคม 2567 เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 6.150 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 6 โดยส่งออกไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกข้าวอีก 4 เดือนสุดท้ายของปี 2567 อาจได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ลานีญา และพายุไต้ฝุ่นยางิ ทำให้ปริมาณและคุณภาพข้าวลดลง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเวียดนามให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพข้าวมากกว่าการเพิ่มปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมและข้าวเหนียวที่ทำให้การส่งออกข้าวประสบความสำเร็จมากในปีที่ผ่านมา และพยายามปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ สมาคมอาหารของเวียดนาม รายงานว่า ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามปรับสูงขึ้นระดับสูงสุดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เนื่องจากพื้นที่บางส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะที่ตลาดนำเข้าข้าวของเวียดนาม เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยังคงมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง
ที่มา ฐานเศรษฐกิจ, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
สำนักข่าว Associate Press (AP) รายงานว่า หน่วยงานของจีนได้มอบข้าวพันธุ์ลูกผสมที่ให้ผลผลิตสูงแก่เกษตรกรมาเลเซีย เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและลดการพึ่งพาการนำข้าวจากต่างประเทศ ซึ่งข้าวพันธุ์ดังกล่าวได้รับ การพัฒนาขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์จีน ณ ศูนย์เพาะพันธุ์หนานฟาน เมืองซานย่า เกาะไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน โดยมีการทดลองปลูกข้าวพันธุ์สองฤดู ได้ผลผลิตประมาณ 22.5 ตันต่อเฮกตาร์ (ประมาณ 3.60 ตันต่อไร่) นับเป็นปริมาณผลผลิตที่สูงมาก และให้ผลผลิตดีกว่าพันธุ์ทั่วไปถึงร้อยละ 20 ? 30 ทั้งนี้ มาเลเซียได้เริ่มปลูกข้าวสายพันธุ์นี้แล้ว ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้ จากเดิม 8 ตันต่อเฮกตาร์ (ประมาณ 1.28 ตันต่อไร่) เป็น 12 ตันต่อเฮกตาร์ (ประมาณ 1.92 ตันต่อไร่) ส่งผลให้ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่หันมาปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสมของจีนมากขึ้น
นายโมฮัมหมัด ซาบาวีอับดุล กานี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรแห่งมาเลเซีย (Malaysian Agricultural Research and Development Institute: MARDI) กล่าวว่า ปัจจุบันมาเลเซียมีการผลิตข้าวโดยพึ่งตนเองได้เพียงร้อยละ 65 เท่านั้น การสนับสนันพันธุ์ข้าวดังกล่าวจึงเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมมือกับจีน และจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมข้าวของมาเลเซียเป็นอย่างมาก เนื่องจากมาเลเซียประสบปัญหาการขาดแคลนข้าว สามารถผลิตข้าวได้เพียงร้อยละ 70 ของความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศปีละประมาณ 0.9 ? 10.0 ล้านตัน ซึ่งรวมถึงจากประเทศไทย เวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน และกัมพูชา
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร