สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2024 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.172 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.04 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.376 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 70.38 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,612 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,585 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,328 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,555 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 37,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 37,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,110 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,810 ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 10.11

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,132 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,714 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 1,129 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,671 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 และสูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 43 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,508 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 570 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,514 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 10.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2,006 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,703 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 576 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,709 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 10.59 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 2,006 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4329 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

นายสมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง เนื่องจากอินเดียได้เปิดเสรีส่งออกข้าวจากเดิมที่เคยมีคำสั่งห้ามส่งออกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ การยกเลิกมาตรการดังกล่าว รวมถึงการยกเลิกการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ที่ตันละ 490 ดอลลาร์ (ประมาณตันละ 15,892 บาท) ในข้าวขาวและข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ทำให้อินเดียสามารถส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น และหากอินเดียกำหนดราคาส่งออกต่ำกว่าราคาตลาดก็จะทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้าวไทยที่จะออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตประมาณ 32 ล้านตัน ทั้งนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างการปลูกข้าวที่มุ่งเน้นการปลูกข้าวคุณภาพสูง และมีมาตรฐานสูง เช่น การปลูกข้าวที่สอดคล้องกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และข้าวที่มีสารอาหารสูง เป็นต้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับชาวนาไทย นอกจากนั้น รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยการพัฒนาผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรให้เพิ่มขึ้น เช่น จาก 500 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มเป็น 800 - 1000 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับสถานการณ์ข้าวในตลาดโลกจะมีการปรับไปในทิศทางใดนั้น ยังคงต้องพิจารณาตัวแปรเรื่องปริมาณความต้องการจากประเทศผู้นำเข้าข้าวในตลาดโลก เช่น แอฟริกา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ โดยในปีที่ผ่านมาฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวมากถึง 4 ล้านตัน ส่วนแอฟริกาใต้และอินโดนีเซียมีการนำเข้าประเทศละ 2 ล้านตัน ซึ่งหากมีความต้องการนำเข้าข้าวน้อยลง ปริมาณข้าวในตลาดโลกก็จะล้นตลาดและทำให้ราคาข้าวลดลง

ที่มา กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4329 บาท

2) อินเดีย

อินเดียอนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติได้อีกครั้ง หลังจากประกาศลดภาษีการส่งออกข้าวนึ่ง จากร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เนื่องจากเกษตรกรกำลังเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิตในฤดูกาลใหม่ ทำให้สต็อกข้าวของรัฐบาลมีเพิ่มขึ้น ในการนี้ นาย Himanshu Agarwal กรรมการบริหาร Satyam Balajee หนึ่งในบริษัทส่งออกข้าวรายใหญ่ของอินเดีย กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของอินเดียส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ เช่น ไทย เวียดนาม และปากีสถาน ปรับลดราคาข้าวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ขณะที่สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ก่อนหน้านี้ราคาข้าวทั่วโลกปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 15 ปี หลังจากเมื่อปีที่แล้วอินเดียประกาศมาตรการห้ามส่งออกข้าวขาว และกำหนดอัตราภาษีส่งออกข้าวนึ่งร้อยละ 20 ซึ่งมาตรการดังกล่าว ทำให้ประเทศคู่แข่ง เช่น เวียดนาม ไทย ปากีสถาน และเมียนมา สามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด และควบคุมราคาในตลาดโลกให้สูงขึ้นได้

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ราคาข้าวนึ่งหัก 5% ของอินเดียราคาตันละ 500 - 510 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ16,216 ? 16,541บาท) ลดลงจากตันละ 530 - 536 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,189 ? 17,384 บาท) ในสัปดาห์ก่อน ส่วนราคาข้าวขาวหัก 5% ของอินเดียราคาตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 15,892 บาท) ทั้งนี้ ปี 2566 อินเดียครองสัดส่วนการส่งออกข้าวมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกทั่วโลก โดยมีปริมาณ 22.2 ล้านตัน จากการค้าทั่วโลกทั้งหมด 55.4 ล้านตัน ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.4329 บาท

3) ฟิลิปปินส์

สำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BPI) กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (Department of Agriculture: DA) เปิดเผยตัวเลขการนำเข้าข้าว ณ กลางเดือนกันยายน 2567 มีปริมาณ 3.01 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยนำเข้าจากเวียดนามมากเป็นอันดับ 1 ปริมาณ 2.63 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 87.37 ของการนำเข้าทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ไทย 3.94 แสนตัน ปากีสถาน 1.57 แสนตัน เมียนมา 6.80 หมื่นตัน และอินเดีย 2.20 หมื่นตัน ตามลำดับ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 นาย Martin Romualdez ประธานสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ ได้เยี่ยมชมตลาด Guadalupe ในเมืองมากาติ รวมถึงตลาดนัดเกษตรกรและ Nepa Q-Mart ในเมืองเกซอน ซิตี้ พบว่า ราคาขายปลีกข้าวสีคุณภาพดีกิโลกรัมละ 45 เปโซ (ประมาณ 25บาท) และข้าวหักกิโลกรัมละ 42 เปโซ (ประมาณ 23 บาท) ทั้งนี้ ราคาข้าวในท้องตลาดที่ลดลง เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าว โดยการปรับลดภาษีข้าวจากร้อยละ 35 เหลือร้อยละ 15 รวมทั้งการดำเนินการแก้ปัญหา/ป้องกันการขาดแคลนข้าวในระยะยาว เช่น การเพิ่มผลผลิตข้าวภายในประเทศ การปรับปรุงกฎระเบียบการนำเข้า และบทลงโทษสำหรับผู้ค้าที่ผิดกฎหมาย โดยมีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและปรับราคาข้าว เพื่อให้ผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์ทุกคนสามารถซื้อข้าวในราคาที่เอื้อมถึงได้

          นอกจากนี้ สำนักงานสำรวจบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ของฟิลิปปินส์ (Philippine Atmospheric, Geophysical and Astronomical Services Administration: PAGASA) คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์ลานีญามีโอกาสที่จะเกิดในช่วงกันยายน - พฤศจิกายน 2567 ถึงร้อยละ 66 และมีแนวโน้มจะคงอยู่ถึงไตรมาสแรกของปี 2568 ซึ่งอาจประสบกับฝนตกหนักและน้ำท่วมรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ลดลง ทั้งนี้ ข้อมูลของกระทรวงเกษตร ระบุว่า ความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกิดจากผลกระทบของสภาพอากาศ รวมถึงเอลนีโญ มรสุม ไต้ฝุ่น และพายุต่างๆ ในช่วง 9 เดือน (มกราคม - กันยายน) ที่ผ่านมา อยู่ที่ 23.19 พันล้านเปโซ     (12.77 พันล้านบาท) เป็นผลผลิตข้าว 3.73 แสนตัน และคาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวจะได้รับผลกระทบประมาณ      5 ? 6 แสนตันของทุกปี

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เปโซ เท่ากับ 0.5505 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ