สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 ตุลาคม 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น
คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.172 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.04 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์
คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 4.376 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 70.38 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1.2.1 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2566/67 มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้
1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 3 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 12,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 10,500 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 9,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 10,000 บาท โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท
2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป เป้าหมาย 1 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.85 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3.85 ต่อปี
3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2566/67 โดย ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท
4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2566/67 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก ระยะเวลารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 ? 31 มีนาคม 2567 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2567) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสารระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 4
1.2.2 โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 เพื่อเพิ่มความมั่นคงให้แก่เกษตรกร โดยคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด ซึ่งมีพื้นที่เป้าหมายรวมการรับประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) และการรับประกันภัยเพิ่มเติมโดยสมัครใจ (Tier 2) จำนวน 21 ล้านไร่ วงเงินงบประมาณโครงการฯ รวม 2,302.16 ล้านบาท ทั้งนี้ กรรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ (1) น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก (2) ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง (3) ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น (4) ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง (5) ลูกเห็บ (6) ไฟไหม้ และ (7) ช้างป่า
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,662 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,612 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,900 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,328 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.14
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 37,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,650 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,110 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.57
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,107 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,742 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,132 ดอลลาร์สหรัฐฯ (36,714 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.21 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 28 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,027 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,508 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 519 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 522 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,325 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,703 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 622 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1904 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดียได้ปรับลดภาษีส่งออกข้าวบางชนิด ซึ่งรวมถึงข้าวนึ่งลงเหลือร้อยละ 10 และอนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติได้อีกครั้ง (หลังจากที่มีการประกาศห้ามส่งออกตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566) โดยไม่มีภาษีส่งออก แต่กำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำไว้ที่ตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 16,263 บาท) ซึ่งทำให้ประเทศผู้นำเข้าข้าวชะลอการซื้อข้าวและมีการทบทวนแผนการตลาดใหม่ โดยประเมินจากภาวะอุปสงค์และอุปทานข้าวในตลาด ส่งผลให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 494 - 498 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 16,396 - 16,529 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 และลดลงจากตันละ 528 - 534 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,525 - 17,724 บาท) เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 490 - 495 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 16,263 - 16,429 บาท)
นาย B.V. Krishna Rao ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดีย กล่าวว่า ราคาข้าวปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากมีการปรับลดภาษีส่งออกลง แต่ประเทศผู้นำเข้ายังคงรอดูสถานการณ์และรอให้สถานการณ์ในตลาดสงบลง นอกจากนี้ สำนักข่าว The Economic Times รายงานว่า ผู้นำเข้าและผู้บริโภคในแอฟริกาใต้รู้สึกคลายกังวลที่อินเดียยกเลิกมาตรการดังกล่าว โดยคาดว่าการผ่อนปรนข้อจำกัดการส่งออกนี้จะทำให้ราคาข้าวโลกมีเสถียรภาพ และสามารถตอบสนองความต้องการข้าวของภูมิภาคแอฟริกาใต้ที่มีประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ คาดว่าอินเดียจะกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ไปยังแอฟริกาใต้อีกครั้ง
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.1904 บาท
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว รายงานว่า ญี่ปุ่นมีความต้องการข้าวนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการขาดแคลนข้าวในประเทศญี่ปุ่นและข้าวมีราคาสูงขึ้น ซึ่งในปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้าข้าวในรูปข้าวกล้องตามโควตาการนำเข้าขั้นต่ำ (Minimum Access: MA) จำนวน 770,000 ตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปหรือใช้สำหรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศ โดยในจำนวนนี้ มีโควตาสำหรับการบริโภคเป็นอาหารอยู่ที่ 100,000 ตัน จากการประมูลนำเข้าข้าวรูปแบบสัญญาซื้อขายพร้อมกัน(Simultaneous Buy & Sell: SBS) ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก
ในการประมูลข้าวแบบ SBS ครั้งแรกของปีงบประมาณ 2567 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 มีการยื่นขอซื้อข้าวสูงถึง 75,732 ตัน จากโควตาที่กำหนดในการประมูลครั้งนี้ จำนวน 25,000 ตัน ซึ่งแสดงถึงอัตราการแข่งขันที่มากกว่าปกติถึง 3 เท่า หากเทียบกับการประมูลครั้งแรกของปีงบประมาณ 2566 ที่มีอัตราการแข่งขันเพียง 1.1 เท่า ความต้องการข้าวที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคาขายของรัฐบาลสูงขึ้นจากตันละ 263,245 เยน (ตันละ 58,177 บาท) (ไม่รวมภาษี) ในปี 2565 เป็นตันละ 328,690 เยน (ตันละ 72,640 บาท) หรือสูงขึ้นร้อยละ 12 ทั้งนี้
เมื่อพิจารณาตามรายประเทศ ข้าวเมล็ดกลางที่นำเข้ามาเพื่อทดแทนข้าวในประเทศ ปรากฏว่า ข้าวสหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้นจากตันละ 63,834 เยน (ตันละ 14,107 บาท) ในปี 2566 เป็นตันละ 294,205 เยน (ตันละ 65,019 บาท) ในปี 2567 ส่วนข้าวออสเตรเลียอยู่ที่ตันละ 285,201 เยน (ตันละ 63,029 บาท) ซึ่งข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศจะนำมาใช้ผสมกับ ข้าวที่ผลิตในประเทศเพื่อจำหน่ายอีกครั้ง นอกจากนี้ ข้าวเมล็ดยาวจากไทยที่นิยมใช้ในร้านอาหารไทยและเวียดนามมีความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน ส่งผลให้ราคาขายข้าวไทยปรับสูงขึ้นเป็นตันละ 337,866 เยน (ตันละ 74,668 บาท)
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เยน เท่ากับ 0.2210 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร