เจาะผลศึกษา ?ทุเรียน? ไม้ผลเศรษฐกิจทางเลือก จ.สงขลา สินค้าเกษตรที่มีศักยภาพ ทดแทนการปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม
นายไพฑูรย์ สีลาพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา (สศท.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในพื้นที่เหมาะสมน้อย (S3) หรือไม่เหมาะสม (N) ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีศักยภาพ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สังคม เศรษฐกิจ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนการผลิต ทั้งนี้ สศท.9 ได้ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าทุเรียน ทดแทนการผลิตยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสมจังหวัดสงขลา ตามโครงการบริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) และจัดทำแนวทางพัฒนาสินค้าทุเรียนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกผลิตให้กับเกษตรกรในพื้นที่
จังหวัดสงขลา มีเนื้อที่ยืนต้นยางพารารวม 2,158,792 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29.07 ของพื้นที่ปลูกภาคใต้ตอนล่าง โดยในระยะ 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) พบว่า มีพื้นที่ปลูกยางพาราลดลงร้อยละ 0.84 ต่อปี สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เกษตรกรปลูกยางพาราในพื้นที่ระดับความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) รวม 563,074.83 ไร่ หรือร้อยละ 33.43 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัดสงขลา (ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน, 2564) จากการศึกษาของ สศท.9 พบว่า ทุเรียนเป็นไม้ผลเศรษฐกิจทางเลือกที่สามารถปลูกทดแทนยางพาราในพื้นที่ระดับความเหมาะสมน้อย (S3) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ของจังหวัดสงขลา เนื่องจากทุเรียนเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการและราคาดีมาอย่างต่อเนื่อง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มีนโยบายส่งเสริมและเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ ๆ ให้แก่เกษตรกร ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ เอื้ออำนวยต่อการปลูกทุเรียน จึงเป็นสิ่งจูงใจให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยน โดยในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.86 ต่อปี ซึ่งในระหว่างปี 2564 - 2566 มีเกษตรกรเข้ารับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกทุเรียนแทนในพื้นที่ยางพารา รวม 2,673.91 ไร่ พื้นที่ปรับเปลี่ยนส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอสะเดา อำเภอนาทวี อำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอรัตภูมิ ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง สำหรับต้นทุนการผลิตทุเรียนปีการผลิต 2566 พบว่า มีต้นทุนการผลิตรวม 16,917.98 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 1,141.80 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 91,278.99 บาท/ไร่/ปี หรือ 79.94 บาท/กิโลกรัม ซึ่งหากเทียบกับเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) ตามแผนที่ Agri-Map ในปี 2566 เกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 1,626.69 บาท/ไร่/ปี
ราคาทุเรียนหมอนทองที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 107 บาท/กิโลกรัม ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตทุเรียนส่วนใหญ่ร้อยละ 89.81 เกษตรกรจำหน่ายให้แก่พ่อค้ารวบรวมในจังหวัดและต่างจังหวัด อาทิ จังหวัดยะลา รองลงมา ร้อยละ 8.13 เกษตรกรบริโภคเองและแจกจ่ายให้ญาติ และผลผลิตร้อยละ 2.06 เกษตรกรจำหน่ายเองในชุมชนในรูปผลสด โดยการการสั่งจองล่วงหน้าของผู้บริโภคในชุมชน รวมถึงการจำหน่ายในตลาดชุมชน
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาดังกล่าว สศท.9 ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางพัฒนาสินค้าทุเรียนจังหวัดสงขลาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขี้น อาทิ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตทุเรียน มีการติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและเตือนภัย รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี สารชีวภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนสารเคมี เพื่อให้เกษตรกรทำการผลิตทุเรียนอย่างปลอดภัยไม่ส่งผลต่อสุขภาพ และสร้างความยั่งยืนในการผลิตทุเรียน สนับสนุนเกษตรกรให้มีการผลิตทุเรียนคุณภาพได้รับใบรับรองมาตรฐาน GAP การสร้างแบรนด์ของทุเรียนโดยใช้เอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ รวมถึงในอนาคตที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น ภาครัฐควรมีการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน (ผู้ประกอบการ) รับรองการตั้งแหล่งรับซื้อในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นใจ และขายทุเรียนในราคาที่เป็นธรรม ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลผลการศึกษาเชิงลึก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.9 โทร 0 7431 2996 หรือ อีเมล์ zone9@oae.go.th
***********************************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 สงขลา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร