สศก. เผย ผลโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ปี 67 สำเร็จตามเป้า 100 ตำบล นำร่อง 144 กลุ่มสินค้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2024 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เผย ผลโครงการ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ปี 67 สำเร็จตามเป้า 100 ตำบล นำร่อง 144 กลุ่มสินค้า

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ?1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง? เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการตามหลักการ ?ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้? โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายระดับพื้นที่ตำบลอย่างแท้จริง โดยโครงการฯ กำหนดเป้าหมาย 500 ตำบล โดยมีเป้าหมายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 100 ตำบล ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 200 ตำบล และปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 จำนวน 200 ตำบล เพื่อส่งเสริมพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง

สำหรับกรอบแนวทางการขับเคลื่อนและจำแนกประเภทกลุ่มสินค้าและบริการ ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก เป็นสินค้าที่มีการรวมกลุ่มกันผลิต รวมกลุ่มจำหน่าย โดยมีผลผลิตสู่ตลาดต่างประเทศและตลาดภายในประเทศ 2) กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีการแปรรูปเป็นสินค้าที่มีตลาดภายในประเทศมีการจำหน่ายเป็นผลผลิตโดยตรงหรือมีการแปรรูป ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจะส่งออกสูง 3) กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ เป็นสินค้าที่สะท้อนเอกลักษณ์และเสน่ห์ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว สามารถยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน

ผลการดำเนินโครงการฯ สศก. พบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดำเนินการได้ตามเป้าหมาย 100 ตำบล โดยคัดเลือกพื้นที่และสินค้าเกษตรมูลค่าสูงนำร่อง จำนวน 144 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าและบริการด้านพืช แมลงเศรษฐกิจและบริการเชิงสร้างสรรค์ 84 กลุ่ม ด้านปศุสัตว์ 37 กลุ่ม และด้านประมง 23 กลุ่ม และจำแนกผลการดำเนินงานตามแนวทางการขับเคลื่อนในแต่ละประเภทกลุ่มสินค้าและบริการเพื่อพัฒนายกระดับสินค้าทั้ง 3 กลุ่ม ได้ดังนี้ 1) กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก ดำเนินการได้ 95 กลุ่ม อาทิ ข้าวอินทรีย์ กล้วยหอมทอง ทุเรียน มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าวน้ำหอม มังคุด ปลากะพงขาว 2) กลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ดำเนินการได้ 46 กลุ่ม อาทิ สับประรด โคขุนคุณภาพ เนื้อโคแช่แข็ง เนื้อพร้อมปรุง ปลานิลสด ปลากระพงขาว และ 3) กลุ่มสินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ ดำเนินการได้ 2 กลุ่ม คือ ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ ของแปลงใหญ่โคเนื้อและพืชอาหารสัตว์เลาขวัญ จ. กาญจนบุรี และโคเนื้อโคราชวากิว ของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิวขามทะเลสอ จ. นครราชสีมา โดยการพัฒนาหญ้าเนเปียรที่เป็นอาหารของโคเนื้อให้มีคุณภาพ สำหรับด้านประมง ได้แก่ กุ้งก้ามกราม ของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามบางแพ จ. ราชบุรี เป็นการพัฒนาการผลิตให้มีคุณภาพ

ด้านนางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า จากที่ศูนย์ประเมินผล ได้ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการในพื้นที่ 15 จังหวัด พบว่า หน่วยงานในพื้นที่ได้ร่วมกับกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ในการรวบรวมปัญหาต่าง ๆ ทั้งด้านการผลิตและการตลาด รวมถึงปัญหาอื่น ๆ (Pain Point) อย่างไรก็ตาม พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านต้นทุนการผลิต รวมถึงปัญหาด้านการตลาดที่เกษตรกรมีความต้องการขยายตลาดจำหน่ายผลผลิต โดยเจ้าหน้าที่และเกษตรกรได้ร่วมจัดทำแผนพัฒนารายสินค้า (Action Plan) ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น จัดทำแผนการลดต้นทุนจากปัจจัยการผลิต ทำแผนการผลิตปุ๋ยหมักหรือสารชีวภัณฑ์ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีที่มีราคาจำหน่ายสูง หรือทำแผนลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ และที่สำคัญยังมีการจัดทำแผนพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาด เช่น การแปรรูปข้าว เนื้อสัตว์ กุ้ง ปลา เป็นต้น สำหรับแผนการเพิ่มผลผลิต พบว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ได้ให้ความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับเกษตรกรด้วยเช่นกัน

กลุ่มเกษตรกรมีความพึงพอใจต่อโครงการในระดับมากที่สุด เนื่องจากสินค้าของกลุ่มตนเองได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ และได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมง ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตและมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เกษตรกรมีความต้องการให้สนับสนุนด้านตลาด เช่น การจัดหาตลาดใหม่ๆ การสนับสนุนการจัดทำ Roadshow เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้า การเพิ่มผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีความต้องการการสนับสนุนด้านปัจจัยการผลิต ได้แก่ การจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการผลิต และยังต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้กับเกษตรกร เนื่องจากการผลิตบางสินค้ามีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านนี้สูง ที่สำคัญต้องเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมอาชีพหลังฤดูการผลิต เป็นการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนเกษตรกรในช่วงที่ไม่ได้ทำการผลิต จะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริมนี้

ผลการดำเนินงานโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง ?1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง? ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

กลุ่มสินค้า                                     ด้านพืช แมลงเศรษฐกิจ        ด้านปศุสัตว์     ด้านประมง    รวม

และบริการเชิงสร้างสรรค์

1. สินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อส่งออก                                 83               4            8     95
2. สินค้าเกษตรมูลค่าสูง                                          1              31           14     46
3. สินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์                             -               2            1      3
รวม                                                        84              37           23    144

********************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ