สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 28, 2024 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 ตุลาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.123 ล้านไร่ ผลผลิต 27.035 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.215 ล้านไร่ ผลผลิต 26.833 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.15 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 และร้อยละ 0.93 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ ณ เดือนพฤษภาคม 2567 ว่าปรากฎการณ์เอลนีโญเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2567 หลังจากนั้นมีความน่าจะเป็นร้อยละ 49 ที่จะเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2567 ส่งผลให้คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และจะไม่กระทบแล้งและประสบอุทกภัยเหมือนปีที่แล้ว ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาผลผลิตดีขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.668 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.34 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนตุลาคม 2567 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.172 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.04 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยเดือนตุลาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.003 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นร้อยละ 0.06 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,723 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,747 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.15

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,552 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,609 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 38,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 38,225 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.85

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.13

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนตุลาคม 2567 ผลผลิต 530.435 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 521.517 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.71

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนตุลาคม 2567 มีปริมาณผลผลิต 530.435 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.71 การใช้ในประเทศ 528.065 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.30 การส่งออก/นำเข้า 56.314 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 0.03 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 182.192 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.32

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย จีน บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย กายานา อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน เมียนมา ออสเตรเลีย และตุรกี
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน ซาอุดิอาระเบีย ไอเวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กานา โมซัมบิก คาเมรูน เนปาล สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก อินโดนีเซีย มาเลเซีย บราซิล และเม็กซิโก
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปนส์ ไทย ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และไนจีเรีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) บังกลาเทศ

บังกลาเทศเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก ภายใต้สถานการณ์ปกติสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 40 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้บริโภคในประเทศ โดยมีประชากรประมาณ 170 ล้านคน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรบังกลาเทศ รายงานว่าบังกลาเทศต้องเผชิญภาวะฝนตกหนัก และเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเดือนสิงหาคมและตุลาคม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคเหนือ ทำให้ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายถึง 1.1 ล้านตัน ส่งผลให้รัฐบาลต้องเร่งนำเข้าข้าว 0.5 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าจะอนุญาตให้ภาคเอกชนนำเข้าได้ในเร็วๆ นี้ นอกจากข้าวแล้ว ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสินค้าเกษตรอื่นๆ รวมถึงผักมากกว่า 0.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายทางการเกษตรทั่วประเทศประมาณ 45,000 ล้านตากา (ประมาณ 12,780 ล้านบาท) ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ตากา เท่ากับ 0.2840 บาท

2) ฟิลิปปินส์

นาย Raul Q. Montemayor ผู้จัดการสหพันธ์เกษตรกรเสรีของฟิลิปปินส์ (Federation of Free Farmers National) กล่าวว่า การประกาศยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดียจะทำให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ราคาปรับลดลง โดยราคาส่งออกขั้นต่ำของอินเดียต่ำกว่าราคาที่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น เวียดนามและไทย ประมาณร้อยละ 10 หรืออยู่ที่ 500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (16,653 บาทต่อตัน) แต่ประเทศผู้นำเข้าจะยังไม่เลือกซื้อข้าวจากอินเดียเป็นลำดับแรกแม้จะมีราคาที่ต่ำกว่า เนื่องจากมีความกังวลเรื่องคุณภาพและความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ ในอดีตฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวจากปากีสถานมากกว่านำเข้าข้าวจากอินเดีย

นาย William D. Dar อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ กล่าวว่า การที่ฟิลิปปินส์มีคำสั่ง Executive Order (EO) No. 62 เพื่อปรับปรุงโครงการภาษีใหม่ โดยมีการลดอัตราภาษีนำเข้าข้าวทั้งในโควตาและนอกโควตาลงเหลือร้อยละ 15 จากร้อยละ 35 จนถึงปี 2571 จะทำให้ประเทศผู้นำเข้ามีทางเลือกในการเลือกแหล่งที่มาของข้าวในราคาที่ถูกลง ประมาณ 6 ? 7 เปโซต่อกิโลกรัม (3.30 ? 3.85 บาทต่อกิโลกรัม) ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวประมาณร้อยละ 20 ของความต้องการข้าวในประเทศ หากข้าวของอินเดียมีคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวของเวียดนามและไทย จะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจของประเทศผู้นำเข้าเพราะมีราคาถูก

ขณะที่นาย Fermin D. Adriano อดีตปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ คาดว่า ผู้ส่งออกข้าวเวียดนามจะสามารถแข่งขันราคาที่ต่ำกว่าของอินเดียได้ ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวโดยรวมปรับลดลง นอกจากนี้ เวียดนามเป็นผู้จัดหาข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์ โดยทั้งสองรัฐบาลได้ลงนามในข้อตกลงร่วมการจัดหาข้าวเมื่อเดือนมกราคมที่ให้โควตาข้าวแก่ฟิลิปปินส์ปีละ 1.5 - 2 ล้านตัน เป็นเวลา 5 ปี

ข้อมูลจากสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BAI) ณ วันที่ 19 กันยายน 2567 ฟิลิปปินส์มีการนำเข้าข้าวปริมาณ 3.09 ล้านตัน โดยเป็นการนำเข้าข้าวจากปากีสถานปริมาณ 157,044 ตัน ขณะที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) คาดว่า ในปี 2567 ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวสูงถึง 4.6 ล้านตัน

ที่มา สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.3060 บาทและ 1 เปโซ เท่ากับ 0.5503 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ