สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.704 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 24.037 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.01 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.970 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 10.99 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.671 ล้านไร่ ผลผลิต 6.217 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 643 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.606 ล้านไร่ ผลผลิต 6.918 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 652 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก ปี 2566 ร้อยละ 8.81 ร้อยละ 10.14 และร้อยละ 1.38 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเข้าสู่ภาวะเอลนีโญตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2566 ถึง เมษายน 2567 ทำให้ฝนมาล่าช้า ฝนทิ้งช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้การได้ทั่วทั้งประเทศปี 2566 ลดลงจากปี 2565 ประมาณร้อยละ 8.40 และน้ำต้นทุน ไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปรัง ประกอบกับทางภาครัฐขอความร่วมมือให้ลดการเพาะปลูกข้าวนาปรัง นอกจากนี้ ต้นทุนการผลิตยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง เกษตรกรบางรายจึงปล่อยพื้นที่ว่างหรือปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ และในบางพื้นที่ประสบปัญหาโรคขอบใบแห้ง ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่ดี เมล็ดข้าวไม่สมบูรณ์
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,610 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,723 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.72
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,406 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,552 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.53
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 38,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,210 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.55
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,110 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,208 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,126 ดอลลาร์สหรัฐฯ (37,151 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.42 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาท ตันละ 57 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 507 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,995 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,454 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.16 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 454 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,196 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 554 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,279 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.40 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,083 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.5204 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติของอินโดนีเซีย คาดการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ว่า ในปี 2567 ผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียจะลดลงเหลือ 30.34 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2.43 เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งยาวนานในปี 2566 ส่งผลให้ฤดูกาลเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวล่าช้า ด้านการนำเข้า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณสูงถึง 3 ล้านตันต่อปี และในปี 2567 อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายนำเข้าข้าวประมาณ 3.6 ล้านตัน สำหรับปี 2568 อินโดนีเซียมีแผนจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 0.75 - 1 ล้านเฮกตาร์ (4.69 ? 6.25 ล้านไร่) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของนาย Prabowo Subianto ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นาย Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า รัฐบาลฯ กำลังพิจารณานำเข้าข้าวปริมาณ 1 ล้านตัน จากประเทศอินเดียในปี 2568
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์
หมายเหตุ : 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่
เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 ราชกิจจานุเบกษาบังกลาเทศ โดยกระทรวงการคลังบังกลาเทศ ได้เผยแพร่ประกาศเลขที่ S.R.O. No-364-AIN/2024/93/Customs ว่าด้วยการลดหย่อนอัตราภาษีนำเข้าชั่วคราว สินค้าพิกัด 1006.30.99 ชนิดสินค้าข้าวนึ่งและข้าวขาว (ข้าวธรรมดาที่มิใช่ข้าวหอม) โดยลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากร (Custom Duty) เหลือร้อยละ 15 จากอัตราปกติร้อยละ 25 และอากรควบคุมสินค้านำเข้า (Regulatory Duty) เหลือร้อยละ 5 จากอัตราปกติร้อยละ 25 ส่งผลให้อัตราภาษีรวม (Total Tax Incidence) ของสินค้าพิกัดดังกล่าวลดลงเหลือร้อยละ 25 จากอัตราภาษีรวมปกติร้อยละ 62.50 ซึ่งการลดหย่อนอัตราภาษีใหม่นี้มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป สาเหตุการลดภาษีนำเข้า เนื่องจากบังกลาเทศต้องการกระตุ้นให้ภาคเอกชนนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมากขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในตลาดภายในประเทศ ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษาบังกลาเทศฉบับดังกล่าว ได้กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดให้ผู้นำเข้าแต่ละรายที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีต้องสมัครเข้าร่วมโครงการเพื่อแจ้งขอใช้สิทธิ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งต้องแจ้งปริมาณนำเข้า ช่วงเวลานำเข้า และบังกลาเทศจะมีการประกาศลดหย่อนภาษีนำเข้าข้าวเป็นระยะๆ ตามสถานการณ์ในประเทศ
ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร