สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 18, 2024 14:01 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 พฤศจิกายน 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ปริมาณ 17.704 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 65.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 24.037 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.01 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.970 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 10.99 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ

โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ทั้งนี้ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2568 ปริมาณรวม 5.33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 67.73 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,022 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,298 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.81

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,269 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,378 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 36,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 38,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.19

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.77

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 884 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,476 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 506 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,445 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 507 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 450 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 512 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,652 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,196 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 456 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.4756 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตและการค้าภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ซึ่งจากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พบว่า ภาคเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอันดับ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงานที่มีสัดส่วนร้อยละ 69.96 โดยการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดถึงร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ดังนั้น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกควรให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำเพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในตลาดข้าวพรีเมียม นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ทั้งนี้ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญของไทยได้มีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำแล้วเช่นกัน และมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย จึงเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า เนื่องจากเวียดนามมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรปที่มีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด อาจทำให้ข้าวเวียดนามเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย อย่างไรก็ตาม การแข่งขันของตลาดข้าวโลกในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไทยจึงควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวคาร์บอนต่ำ คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม่เผาฟางข้าว

ที่มา ไทยพีบีเอส (Thai PBS), ไทยรัฐออนไลน์

2) เวียดนาม

จากข้อมูลของกรมศุลกากรมเวียดนาม ระบุว่า ในเดือนตุลาคม 2567 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 800,000 ตัน มูลค่า 505 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (17,410.18 ล้านบาท) ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม ? ตุลาคม) เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 7.8 ล้านตัน มูลค่า 4,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (167,551.42 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 และร้อยละ 23.4 ตามลำดับ

โดยมีราคาส่งออกเฉลี่ยระหว่างเดือนมกราคม ? ตุลาคม ประมาณตันละ 626.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 21,588.62 บาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ต่อปี สำหรับปี 2566 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 8.13 ล้านตัน เมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตของการส่งออกข้าวในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 และกำลังการผลิตในประเทศคาดว่า การส่งออกข้าวในปี 2567 จะสูงกว่าสถิติการส่งออกข้าวในปี 2566 เนื่องจากช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 เวียดนามเสนอขายข้าวขาว 5% (White rice 5% broken) ในราคาตันละ 520 ? 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,927 ? 18,100 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่มีราคาตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 18,341 บาท)

นอกจากนี้ วารสารตลาดข้าวนานาชาติ (SS Rice News) รายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 หน่วยงานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติของอินโดนีเซีย (The State Logistics Agency ? BULOG) ได้เปิดประมูลซื้อข้าวจากต่างประเทศรอบใหม่ ซึ่ง BULOG มีเป้าหมายที่จะจัดหาข้าวขาว 5% จำนวน 500,000 ตัน จากอินเดีย เวียดนาม ไทย กัมพูชา เมียนมา และปากีสถาน โดยกำหนดส่งมอบตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ? ธันวาคม 2567 และคาดว่าเวียดนามจะได้รับคำสั่งซื้อข้าวจำนวน 85,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 17 ของการประมูลข้าวทั้งหมดของอินโดนีเซีย ทั้งนี้ S&P Global Commodity Insights ได้ประเมินราคาของข้าวขาว 5% ของประเทศต่างๆ

ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ดังนี้

ประเทศ ราคาต่อตัน

(ดอลลาร์สหรัฐฯ) (บาท)

เวียดนาม                     519    17,893
ไทย                         489    16,859
ปากีสถาน                     460    15,859
อินเดีย                       464    15,997
เมียนมา                      500    17,238

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.4756 บาท

3) อิหร่าน

สถานการณ์ตลาดข้าวของอิหร่านมีความผันผวนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น มีสาเหตุมาจาก 1) เป็นช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในประเทศ ซึ่งมีการใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าว (22 กรกฎาคม ? 20 พฤศจิกายน 2567) 2) ข้าวนำเข้าปริมาณ 100,000 ตัน ยังค้างอยู่ที่กรมศุลกากรอิหร่าน ซึ่งไม่สามารถขนถ่ายได้ทันก่อนเริ่มมาตรการห้ามนำเข้าข้าว 3) ความเห็นต่างระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของอิหร่าน โดยหน่วยงานภาครัฐเห็นว่าผลผลิตภายในประเทศมีเพียงพอกับความต้องการและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศในปริมาณมากๆ เพื่อคุ้มครองเกษตรกรและการผลิตภายในประเทศ รวมทั้งเป็นการป้องกันการไหลออกของเงินงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ในการนำเข้า

จากการใช้มาตรการห้ามนำเข้าข้าวดังกล่าว ทางสมาคมผู้นำเข้าอิหร่าน (The Iranian Rice Importers Association) ได้ออกแถลงการณ์ แสดงการคัดค้านต่อการตัดสินใจของรัฐบาลในการจำกัดการนำเข้าข้าว โดยเปิดเผยว่าอย่าได้ผูกมัดการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศไว้กับปริมาณข้าวที่ผลิตได้ในประเทศ อีกทั้งความแตกต่างด้านรสนิยม อำนาจการซื้อข้าวของประชาชน และการขาดแคลนข้าวในตลาดจะส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น ทั้งนี้ สมาคมผู้นำเข้าข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าวในประเทศและข้าวนำเข้าเป็นผลิตภัณฑ์สองชนิดที่แตกต่างกัน และมีเป้าหมายกลุ่มตลาดแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยข้าวนำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาต่ำกว่าข้าวอิหร่านมาก สามารถตอบสนอง

ความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนชั้นกลาง ดังนั้น กลุ่มผู้มีรายได้น้อยในสังคมจึงนิยมบริโภคข้าวนำเข้า ในทางกลับกันการจำกัดการนำเข้าจะทำให้ราคาข้าวในตลาดสูงขึ้น และไม่สามารถควบคุมได้เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยซื้อข้าวได้น้อยลง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เนื่องจาก ข้าวถือเป็นสินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานที่สำคัญของชาวอิหร่าน นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลภาคใต้ ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าข้าว เนื่องจากการห้ามนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งและชายแดนทางภาคใต้ของประเทศที่บริโภคข้าวนำเข้า ขณะที่สมาชิกผู้แทนราษฎรของจังหวัดทางภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวหลักของประเทศไม่เห็นด้วยต่อการอนุญาตนำเข้าข้าว เนื่องจากภายในประเทศยังมีข้าวเหลือในสต็อกอีกเป็นจำนวนมาก

ที่มา กรมส่งเสริมการส่งออกระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ