สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 16, 2024 11:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 ธันวาคม 2567

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลงเนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนธันวาคม 2567 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 2.292 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.49 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2567 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.329 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 97.50 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.678 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 2.50 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นา ที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ทั้งนี้ เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2568 ปริมาณรวม 5.33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 67.73 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,866 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,783 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.56

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,218 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,258 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.44

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,350 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.38

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,125 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,400 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.68

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 939 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,595 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 911 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,048 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.07 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 547 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,799 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 196 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 529 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,799 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 528 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 196 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.6471 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ปากีสถาน

สำนักข่าว ARY NEWS รายงานว่า การส่งออกข้าวของปากีสถานไปยังตลาดซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกถึง 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 134.59 พันล้านบาท) ในปี 2567 โดยข้าวคุณภาพดีของปากีสถานได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวซาอุดิอาระเบีย รายงานยังระบุว่าผู้ส่งออกข้าวของปากีสถานมีความเชื่อมั่นว่าการส่งออกข้าวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 151.41 พันล้านบาท) ภายในปี 2568 เนื่องจากผู้ส่งออกกำลังดำเนินการตามกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อสร้างตำแหน่งทางการตลาดในซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ ประธานสภาธุรกิจซาอุดิอาระเบีย-ปากีสถาน (The Chairman of the Saudi-Pakistani Business Council) ได้แสดงความชื่นชมในคุณภาพข้าวของปากีสถาน ขณะเดียวกันปากีสถานยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นคงในตลาดข้าวซาอุดิอาระเบีย ประกอบกับความพยายามของสภาอำนวยความสะดวกการลงทุนพิเศษ (The Special Investment Facilitation Council; SIFC) ที่ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จ ทำให้ปากีสถานสามารถส่งออกข้าวได้ในมูลค่าประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 134.59 พันล้านบาท) มาโดยตลอด

ทั้งนี้ นายชาห์เจฮาน มาลิก (Shahjehan Malik) เจ้าหน้าที่ของ SIFC กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวของปากีสถาน ในปีงบประมาณ 2568 อยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 168.24 พันล้านบาท) โดยจะมีการพัฒนากลยุทธ์ที่ครอบคลุมทุกด้าน มุ่งเน้นการวิจัยพันธุ์ข้าวใหม่ และการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติด้านการเกษตรที่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะข้าวบาสมาติของปากีสถานที่มีบทบาทสำคัญในตลาดโลก เนื่องจากเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูงในตลาดต่างประเทศ ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.6471 บาท

2) ศรีลังกา

สำนักข่าว Xinhua รายงานว่า คณะรัฐมนตรีของศรีลังกาได้ตัดสินใจยกเลิกข้อกำหนดการออกใบอนุญาตสำหรับผู้นำเข้าข้าวเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการรับประกันเสถียรภาพของอุปทานและราคาข้าวในประเทศทั้งนี้ การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวในประเทศอันเนื่องมาจากการเกิดน้ำท่วมซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวเปลือกในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีจึงอนุญาตให้ผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวสามารถนำเข้าได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต นอกจากนี้ยังได้อนุมัติการนำเข้าข้าวจำนวน 70,000 ตัน โดยบริษัท Lanka Sathosa และการนำเข้าข้าวจำนวน 52,000 ตัน โดยบริษัทการค้าของรัฐศรีลังกา (Sri Lanka State Trading General Corporation หรือ SLSTGC)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ