สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 ธันวาคม 2567
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
- Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านอาหาร (Coordinating Minister for Food Affairs) แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567 ว่า อินโดนีเซียเตรียมที่จะใช้มาตรการห้ามนำเข้าน้ำตาลทรายสำหรับการบริโภคตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป และจากข้อมูลของสำนักงานสถิติกลางแห่งอินโดนีเซีย (Central Statistics Agency: BPS) รายงานว่า อินโดนีเซียมีปริมาณการนำเข้าน้ำตาลทรายประมาณ 5.1 ล้านตันในปี 2566 โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 และรองลงมา คือ บราซิล อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าน้ำตาลทรายที่มีการนำเข้ามานั้น มีปริมาณการใช้เพื่อการบริโภคเท่าใด นอกจากนี้ Zulkifli Hasan กล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตน้ำตาลทรายภายในประเทศมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประเทศอยู่แล้ว และคาดว่าในปี 2567 อินโดนีเซียจะสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้ 2.4 ล้านตัน และวางแผนที่จะเพิ่มการผลิตให้ได้ 2.6 ล้านตัน ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ภาครัฐได้มีการวางแผนที่จะผนวกความร่วมมือกับบริษัทและผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) เพื่อกระตุ้นการผลิตน้ำตาลทรายภายในประเทศ รวมถึงการบริหารจัดการโรงงานน้ำตาลภายในพื้นที่ชุมชน ทั้งนี้ มาตรการห้ามนำเข้าสินค้าอาหารดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพึ่งพาตนเองและความพอเพียง (Self-sufficiency) ของอินโดนีเซีย
- ข้อมูลจาก UNICA รายงานเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ดังนี้ ในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ภาคกลาง-ใต้ของประเทศบราซิล มีอ้อยโรงงานเข้าหีบในโรงงานน้ำตาลทรายจำนวน 23.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้มีปริมาณการผลิตน้ำตาลทราย 1.40 ล้านเมตริกตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้ บราซิลมีช่วงฤดูผลผลิตอ้อยเข้าหีบระหว่างเดือนเมษายน - ธันวาคม
แต่ปัจจุบันมีโรงงานน้ำตาลทรายเพียงจำนวน 78 โรงที่สิ้นสุดการหีบเรียบร้อยแล้ว ลดลงจาก 178 โรงงานในปี 2567 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวและส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อย
(ที่มา: Chinimandi.com)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร