สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 ธันวาคม 2567
- นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) มีมติเห็นชอบ 1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ผ่านกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ใบและยอดอ้อย โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอของบประมาณจากรัฐบาลประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนและดูแลเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดี โดยชาวไร่อ้อยจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 120 บาทต่อตันอ้อย และ 2) มาตรการป้องปรามการลักลอบเผาอ้อย โดยกำหนดให้หักเงินชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยถูกลักลอบเผาในแต่ละวันเป็นรายโรงงาน จากเดิมที่ถูกหัก 30 บาทต่อตันอ้อย เป็น 30 - 130 บาทต่อตันอ้อย รวมถึงเห็นชอบในแนวทางการยกระดับผลผลิตในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายผ่านการกำหนดประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานน้ำตาลให้ได้ปริมาณน้ำตาลตามมาตรฐานที่กำหนด และโรงงานน้ำตาลสามารถปฏิเสธการรับอ้อยที่มีสิ่งปนเปื้อน อ้อยยอดยาว อ้อยที่มีกาบใบ และอ้อยที่ถูกเผาได้ (ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย)
- นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กอน. มีมติเห็นชอบกำหนดวันเปิดหีบอ้อยผลิตน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2567/68 แบ่งเป็นรายภาค ดังนี้
1) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก เริ่มการหีบอ้อย วันที่ 6 ธันวาคม 2567
2) ภาคเหนือและภาคกลาง (ยกเว้น 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์) เริ่มการหีบอ้อย วันที่ 15 ธันวาคม 2567
3) จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เริ่มการหีบอ้อย วันที่ 2 มกราคม 2568
ซึ่ง สอน. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ชาวไร่อ้อยเตรียมความพร้อมสำหรับการเก็บเกี่ยวอ้อยในฤดูการผลิต ปี 2567/68 ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าหีบ 93.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 13.40 (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์)
- The United Sugar Producers Federation (Unifed) ของฟิลิปปินส์ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายน้ำตาล และจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ทดแทนบทบาทของพ่อค้าคนกลางในโซ่อุปทาน
โดย Manuel Lamata ประธานของ Unifed เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแทรกแซงจากกระทรวงเกษตร (Department of Agriculture: DA) และสำนักงานกำกับดูแลน้ำตาล (Sugar Regulatory Administration: SRA) เพื่อรักษาราคาน้ำตาลให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผลและให้เกิดความเสียหายต่อระบบน้อยที่สุด โดยเฉพาะปัญหาความบริสุทธิ์ของน้ำตาลที่ลดลงจากภัยแล้ง และได้แสดงความกังวลต่อความเปราะบางของเกษตรกรชาวไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมากจากราคาน้ำตาลที่ผันผวน (ที่มา: Chinimandi.com)
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร