สศก. ลงพื้นที่เชียงราย เชียงใหม่ และน่าน สำรวจแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เผย 5 มาตรการช่วยเหลือเพื่อเพิ่มผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกร
นายเอกราช ตรีลพ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่สำรวจสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยทีมสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2567/68 ทั้ง 3 จังหวัดมีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.05 ล้านไร่ (เชียงราย 260,404 ไร่ เชียงใหม่ 286,950 ไร่ และน่าน 505,173 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 16.25 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ซึ่งลดลงจากปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.06 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 0.94 เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช/วัชพืช ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกมันสำปะหลัง และข้าว ซึ่งสามารถเก็บท่อนพันธุ์และเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น ยางพารา กาแฟ และโกโก้ เป็นต้น
ด้านผลผลิตรวมของทั้ง 3 จังหวัด คาดว่ามีปริมาณ 0.73 ล้านตัน (เชียงราย 186,146 ตัน เชียงใหม่ 215,698 ตัน และน่าน 332,947 ตัน) คิดเป็นร้อยละ 15.40 ของผลผลิตทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2566/67 ที่มีผลผลิตปริมาณ 0.75 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 2.67 ตามการลดลงของเนื้อที่เพาะปลูก โดยผลผลิตของทั้ง 3 จังหวัด เริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 โดยในช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 เป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของทั้ง 3 จังหวัด ออกสู่ตลาดมาก ขณะนี้จังหวัดน่านเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 40 ส่วนจังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณร้อยละ 70
สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ เดือนพฤศจิกายน 2567 ชนิดเมล็ดความชื้นไม่เกิน 14.5% พบว่า ในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.50 บาท และน่านเฉลี่ยกิโลกรัมละ 8.22 บาท สำหรับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ ชนิดเมล็ดความชื้น 30% ในจังหวัดเชียงราย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.64 บาท จังหวัดเชียงใหม่ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.85 บาท และจังหวัดน่าน เฉลี่ยกิโลกรัมละ 6.47 บาท เกษตรกรส่วนใหญ่เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วจะขายผลผลิตให้กับพ่อค้ารับซื้อในท้องถิ่นทันทีโดยไม่มีการปรับลดความชื้น หรือปรับปรุงคุณภาพก่อนจำหน่าย ดังนั้นราคาที่เกษตรกรขายได้จึงขึ้นอยู่กับระดับความชื้น สิ่งเจือปน ณ ขณะนั้น
จากการสอบถามเกษตรกรในพื้นที่ พบว่า เกษตรกรเห็นด้วยหากภาครัฐจะมีการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และฝุ่น PM2.5 และควรมีมาตรการสนับสนุนต้นทุนในการไถกลบหน้าดินทดแทนการเผาวัสดุเหลือใช้ภายในแปลงปลูก นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยพยุงราคาไม่ให้เกิดความผันผวนในช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เห็นชอบมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และเพิ่มช่องทางการตลาด ปี 2567/68 รวมจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต็อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 (2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพด เลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสถาบันเกษตรกร ปี 2567/68 และ (3) โครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 2567/68 ตลอดจนมีมาตรการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2567/68 และ (2) โครงการส่งเสริมพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประเทศไทย (ปีที่ 1) ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่เกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบการเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยไม่ต้องเร่งระบายผลผลิต และช่วยดูดซับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก จะส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียนในการพัฒนาการผลิตของตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และลดต้นทุนการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างยั่งยืน
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร