?ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตร? จ.สุราษฎร์ธานี แหล่งศึกษาดูงาน ขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกร
นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) เปิดเผยถึงการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตร บ้านราษฎร์พัฒนา หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมี นายวีระศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินระดับจังหวัด ประจำปี 2568 สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานและผู้ก่อตั้ง ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญคือการเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรผสมผสาน การใช้นวัตกรรมทางการเกษตร โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในภาวะที่ภาคเกษตรต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และความท้าทายหลายด้าน เกษตรผสมผสานจึงเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ลดรายจ่ายภายในครัวเรือนและการพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอก
สศท.8 ลงพื้นที่ติดตามและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยสัมภาษณ์นายวีระศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ บอกเล่าว่า ศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตร ได้พัฒนาจากสวนยางพารา บนพื้นที่ 12 ไร่ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นเกษตรผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มรายได้ แบ่งเป็น 1) แปลงเรียนรู้การทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน พื้นที่ 6 ไร่ ประกอบด้วย จุดเรียนรู้การปลูกพืชร่วมยาง ได้แก่ ผักเหลียง สละอินโด กาแฟอาราบิก้า โกโก้ ไผ่ข้าวหลามกาบแดงไม้เศรษฐกิจ และพืชสมุนไพร เช่น ดาหลา พริกไทย จุดเรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ ในสวนยางพารา การเลี้ยงเป็ดบาบารี่ เป็ดกากี ไก่พันธุ์พื้นเมืองในสวนยางพาราการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การเลี้ยงผึ้งโพรงและชันโรงในสวนยางพาราใช้กระโปรงกันฝน ฮอร์โมนเอทธิลีน และการผลิตยางแผ่นดิบคุณภาพแบบสั่งตัด การเลี้ยงปลาดุก และการเลี้ยงแหนแดงในสระปูผ้ายาง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
2) แปลงเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน (ปรับลดพื้นที่สวนยางพารามาทำเกษตรผสมผสาน) พื้นที่ 6 ไร่ ประกอบด้วย การปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน พื้นที่ 2.5 ไร่ การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล พื้นที่ 3 ไร่ เกษตรอัจฉริยะและนวัตกรรมเกษตร ซึ่งเป็นระบบสูบส่งน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การใช้ระบบ IOT ในแปลงเกษตรอัจฉริยะ โรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ พื้นที่ 0.5 ไร่ ทั้งนี้ ในปี 2567 ที่ผ่านมาศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตร ได้รับความสนใจจากเกษตรกร ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงาน รวมกว่า 2,000 ราย
สำหรับกิจกรรมการเกษตรของศูนย์เรียนรู้ฯ ที่น่าสนใจและสร้างรายได้เสริม ในช่วงระยะเวลา 1 ปี ได้แก่ การเลี้ยงไก่ไข่ (ไก่ไข่อารมณ์ดี เป็นการเลี้ยงแม่ไก่ไข่สาวแบบปล่อยไม่ได้ขังในกรงตับ) จำนวน 200 ตัว แบ่งเป็น 4 จุด ๆ ละ 50 ตัว เนื้อที่จุดละ 48 ตารางเมตร รวมเนื้อที่ 192 ตารางเมตร รายได้เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) รวมจากการจำหน่าย ไข่ไก่ แม่ไก่ปลดระวาง และมูลไก่ คิดเป็นจำนวน 77,282 บาท การเลี้ยงผึ้งในพื้นที่สวนยางพารา เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ จำนวน 20 รัง (1 ไร่ เลี้ยงได้ 6 รัง) รายได้เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 22,560 บาท และการปลูกผักเหลียง 400 ต้น (ปลูกร่วมยางพาราในพื้นที่ 4 ไร่) เก็บเกี่ยว 52 รอบ ขายได้รอบละ 425 บาท รายได้เฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 19,390 บาท ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือขยายผลในแปลงของตนเองได้ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดที่รองรับผลผลิต และแรงงานที่ใช้ในการผลิตและดูแลรักษา
ทั้งนี้ การพัฒนาและขับเคลื่อนศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตรในระยะต่อไป ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 3 ด้านคือ 1) ขยายฐานเรียนรู้การทำธุรกิจเกษตรเป็นจุดรวบรวมสินค้าส่งห้าง Modern Trade อาทิ โลตัส แม็คโคร 2) เปิดรับนักศึกษาด้านเกษตร ฝึกงานและทำงานร่วมแบบอยู่ประจำโดยมีที่พักอาศัยให้ และ 3) พัฒนากลุ่มอาชีพในระดับหมู่บ้าน ชุมชน และอำเภอ ด้านการตลาด ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ทั้งนี้ หากท่านใดที่สนใจการทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืน หรือมีความต้องการเข้าศึกษาดูงานของศูนย์เรียนรู้เกษตรผสมผสานและนวัตกรรมเกษตร หมู่ที่ 12 ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ติดต่อสอบถามได้ที่ นายวีระศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ โทร 08 5797 4855 หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร. 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th
*******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร