สศก. หารือ คปภ. ผลักดันประกันภัยภาคการเกษตร ทดสอบนำเทคโนโลยีดาวเทียม ตรวจจับพื้นที่อุทกภัย ประเมินแบบจำลองแม่นยำ ให้แก่เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 22, 2025 11:07 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. หารือ คปภ. ผลักดันประกันภัยภาคการเกษตรทดสอบนำเทคโนโลยีดาวเทียม ตรวจจับพื้นที่อุทกภัย ประเมินแบบจำลองแม่นยำ ให้แก่เกษตรกร

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยมีนายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ.พร้อมคณะเข้าร่วมหารือ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ณ ห้องประชุม 207 สำนักงาน คปภ. ซึ่ง สศก. และ คปภ. ได้ขับเคลื่อนงานประกันภัยภาคเกษตรภายใต้ MOU ความร่วมมือทางวิชาการและแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านประกันภัยการเกษตร และ MOU ความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้แก่ คปภ. สศก. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) โดยขับเคลื่อนการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกร ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สศก. และ คปภ. มีการดำเนินการร่วมกันในกิจกรรมต่างๆ อาทิ การสนับสนุนข้อมูลเพื่อการประกันภัย การมอบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุรายย่อยในโครงการคุ้มครองอุบัติเหตุเซฟเกษตรอาสา และปีใหม่เที่ยวไทยปลอดภัยให้แก่เกษตรกร

ในการหารือดังกล่าว ได้มีการหยิบยกประเด็นพัฒนาความร่วมมือที่สำคัญ อาทิ การพัฒนาโครงการประกันภัยภาคการเกษตรภายใต้โครงการของรัฐบาล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการประกันภัยภาคการเกษตร ซึ่งได้มีการนำข้อมูลดาวเทียม โดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics: GI) มาใช้ในการประเมินความเสียหายในพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้รับเงินสินไหมทดแทนได้ในระยะเวลาอันสั้น รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยชนิดใหม่ๆ ที่สามารถตอบสนองเกษตรกรได้ตรงตามลักษณะปัญหาของพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นการประกันภัยแบบเฉพาะเจาะจงภัยธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง โดยมีการกำหนดค่าสินไหมทดแทน และเบี้ยประกันภัย ซึ่ง สศก. พร้อมให้การสนับสนุนข้อมูลดาวเทียม และข้อมูลทางเศรษฐกิจการเกษตรที่เกี่ยวข้องแก่ คปภ. ในการพัฒนาประกันภัยภาคการเกษตร ต่อไป

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงกำหนดให้มีการประชุมติดตามผลการดำเนินงานทุกๆ 3 เดือน ซึ่งสอดรับกับแนวทางการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตร ที่มีคณะทำงานปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติ ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นางสาวภัทราภรณ์ โสเจยยะ) เป็นประธาน และมี สศก. และ สทอภ. เป็นคณะทำงานและเลขานุการร่วมฯ ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geo-Informatics: GI) โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing) ทั้งในระบบ Optical Sensor และ Synthetic Aperture Radar (SAR) Sensor มาใช้ในการตรวจจับพื้นที่ประสบอุทกภัยระหว่างเกิดภัย มีการวิเคราะห์จำนวนวันที่น้ำท่วมขัง ร่วมกับข้อมูลรายแปลงของกรมส่งเสริมการเกษตร โดยเบื้องต้นได้มีการทดสอบพื้นที่นำร่องของตำบล บ้านหลุม อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เพื่อประเมินแบบจำลองให้มีความถูกต้องและแม่นยำ พร้อมวางแผนขยายผลด้วยการนำแบบจำลองไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นต่อไป

?แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นดังกล่าว จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการดำเนินงานด้านประกันภัยภาคเกษตรของไทยในอนาคต ซึ่ง สศก. และ คปภ. จะเดินหน้าหารูปแบบการประกันภัยทางการเกษตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกร ตลอดจนพัฒนาวิธีการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบความเสียหายทางการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การประกันภัยเป็นทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตรและสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรไทยต่อไป? เลขาธิการ สศก. กล่าว

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร และ ศูนย์สารสนเทศการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ