สศท.1 เกาะติดสถานการณ์ผลิตมันฝรั่ง 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ปีนี้ ผลผลิตรวม 7.3 หมื่นตัน เตรียมแผนลงพื้นที่ ก.พ. - มี.ค. 68 สำรวจข้อมูลเอกภาพ
นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตมันฝรั่ง ปีเพาะปลูก 2567/68 ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ สศท.1 จากข้อมูลของ สศท.1 ณ วันที่ 9 มกราคม 2568 คาดว่า เนื้อที่ปลูกมันฝรั่งทั้ง 6 จังหวัดรวม 23,148 ไร่ (มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน 19,791 ไร่ และพันธุ์บริโภค 3,357 ไร่) คิดเป็นร้อยละ 56.56 ของเนื้อที่ปลูกมันฝรั่งทั้งประเทศ ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 23,569 ไร่ (ลดลงร้อยละ 1.79) เนื่องจากเกษตรกรบางรายประสบปัญหาเรื่องหัวพันธุ์ที่ปลูกมีอัตราการงอกไม่ดี หัวมีขนาดเล็ก ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพลดลง และเกิดโรคง่าย ประกอบกับราคาปัจจัยการผลิตยังคงมีราคาสูง เช่น ค่าหัวพันธุ์ ค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยว และค่ายาปราบศัตรูพืช จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิตรวม 73,699 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 74,010 ตัน (ลดลงร้อยละ 0.42) เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกลดลงภาพรวมผลผลิตจึงลดลง ผลผลิตเฉลี่ย 3,184 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 3,140 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40)
จากการติดตาม พบว่า เกษตรกรในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนตอนบน นิยมปลูกมันฝรั่งพันธุ์โรงงาน เนื่องจากมีการประกันราคารับซื้อกับบริษัทเอกชนทำให้เกษตรกรทราบราคาขายล่วงหน้าก่อนการเพาะปลูก โดยเกษตรกรทำการเพาะปลูกช่วงเดือนธันวาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมีนาคม ? เมษายน ของปีถัดไป ระยะเวลาการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 100 ? 120 วัน สำหรับราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย ปี 2566/67 ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยทั้ง 6 จังหวัด แบ่งเป็น มันฝรั่งพันธุ์โรงงานเปอร์เซ็นต์แป้ง 20 ? 22 % ราคา 13.21 บาท/กิโลกรัม (ราคาประกัน 13 บาท/กิโลกรัม) และมันฝรั่งพันธุ์บริโภค ราคา 15.00 บาท/กิโลกรัม โดยในปีเพาะปลูก 2567/68 บริษัทได้มีการประกันราคาอยู่ที่ 13 - 13.50 บาท ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์แป้ง และผลผลิตต่อไร่ต้องมากกว่า 2,500 กิโลกรัม ซึ่งเป็นข้อตกลงสัญญาการซื้อขาย ด้านสถานการณ์การตลาด เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งโรงงานในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยส่วนใหญ่จะขายผลผลิตให้กับ บริษัท เป๊ปซี่ -โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตมันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ ?เลย์? และ บริษัท เบอร์สี่ ยุคเกอร์จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตมันฝรั่ง ทอดกรอบแบรนด์ ?เทสโต? ซึ่งมีการประกันราคารับซื้อตามคุณภาพของผลผลิต
นอกจากการติดตามสถานการณ์การผลิตมันฝรั่งในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนตอนบน ยังพบว่า เกษตรกรยังมีการดำเนินการในรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งนับเป็นกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการผลิต จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) แปลงใหญ่มันฝรั่งตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 109 ราย พื้นที่ปลูก 358 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1,074 ตัน/ปี 2) แปลงใหญ่มันฝรั่ง หมู่ 3 ตำบลแม่แฝกใหม่ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีสมาชิก 110 ราย พื้นที่ปลูก 643 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1,929 ตัน/ปี 3) แปลงใหญ่มันฝรั่งตำบลทุ่งหัวช้าง อำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีสมาชิก 60 ราย พื้นที่ปลูก 112.5 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 389 ตัน/ปี และ 4) แปลงใหญ่มันฝรั่งอำเภอทุ่งหัวช้าง จังหวัดลำพูน มีสมาชิก 100 ราย พื้นที่ปลูก 325 ไร่ ได้ผลผลิตรวม 1,125 ตัน/ปี
?ความต้องการใช้มันฝรั่งพันธุ์โรงงานของผู้ประกอบการมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ประมาณ 180,000 ? 200,000 ตัน/ปี แต่ความสามารถในการผลิตของทั้งประเทศมีเพียงร้อยละ 60 ของความต้องการใช้ (คาดการณ์ผลผลิตรวมทั้งประเทศในปีเพาะปลูก 2567/68 อยู่ที่ 111,811 ตัน) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมการผลิตมันฝรั่งครบวงจร โดยเน้นการเพิ่มปริมาณการผลิตภายในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชน โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พร้อมทั้งถ่ายทอดความรู้และพัฒนาทักษะความชำนาญให้เกษตรกร ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หัวพันธุ์ที่ได้มาตรฐานและมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ในการผลิตมากขึ้น เช่น ระบบน้ำหยด การใช้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อไร่? ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มันฝรั่งอยู่ในช่วงเจริญเติบโต หากสภาพอากาศแปรปรวนอาจส่งผลต่อปริมาณการผลผลิตที่คาดการณ์ไว้ได้ ซึ่งหลังจากนี้ สศท.1 จะติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างใกล้ชิด รวมทั้งลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลปริมาณการผลิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 และร่วมหารือข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นข้อมูลเอกภาพและนำไปประกอบการพิจารณาการบริหารจัดการสินค้ามันฝรั่งต่อไป
***********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร