สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 25, 2025 15:24 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 17 - 23 กุมภาพันธ์ 2568

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง

สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.149 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.55 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - กุมภาพันธ์ 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.895 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.59 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.112 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.41 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นา ที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 0.679 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.63 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2568 ปริมาณรวม 5.33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 67.73 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,247 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,275 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.18

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,524 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,809 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.24

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,100 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 945 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,595 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,620 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.53 แต่ลดลงในรูปเงินบาท ตันละ 25 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,443 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตัน 430 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,465 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 22 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,845 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,868 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 23 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.4340 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผลผลิต 532.667 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 522.306 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2566/67 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2567/68 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568 มีปริมาณผลผลิต 532.667 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.98 การใช้ในประเทศ 530.523 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.35 การส่งออก/นำเข้า 58.534 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2566/67 ร้อยละ 2.08 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 181.626 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2566/67 ร้อยละ 1.19

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย บราซิล อุรุกวัย ปารากวัย กายานา อาร์เจนตินา สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน กัมพูชา เมียนมา จีน ตุรกี และสหรัฐอเมริกา
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ จีน ไอเวอรี่โคสต์ แอฟริกาใต้ อิหร่าน สหรัฐอาหรับ-เอมิเรตส์ กานา บังกลาเทศ โมซัมบิก คาเมอรูน เยเมน และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ เวียดนาม สหภาพยุโรป อิรัก มาเลเซีย อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโก เคนยา และญี่ปุ่น
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม (Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) ได้รายงานแผนการส่งออกข้าวในปี 2568 ว่าจะส่งออกข้าวได้มากกว่า 7.5 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง โดยคาดว่าภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจะสามารถผลิตข้าวได้ประมาณ 24 ล้านตัน ทั้งนี้ เวียดนามมีแผนส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรก (เดือนมกราคม ? มิถุนายน) ประมาณ 4.53 ล้านตัน และในช่วงครึ่งปีหลัง (เดือนกรกฎาคม ? ธันวาคม) อีกประมาณ 3 ล้านตัน

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้เสนอให้กระทรวงการค้าเร่งส่งเสริมการส่งออกข้าวในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ? เมษายน และช่วงเดือนกรกฎาคม ? กันยายน ซึ่งเป็นช่วงที่การผลิตข้าวออกสู่ตลาดมากในปี 2568 คาดว่าเวียดนามจะมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 7 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 43.75 ล้านไร่) และคาดว่ามีผลผลิตข้าวประมาณ 43.1 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2567 พื้นที่เพาะปลูกข้าวลดลงประมาณ 0.13 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 0.83 ล้านไร่) และผลผลิตลดลงประมาณ 0.32 ล้านตัน

ที่มา สำนักข่าวซินหัวไทย

หมายเหตุ : 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่

2) จีน

กระทรวงเกษตรของจีน ได้สนับสนุนการปลูกข้าวตอซังหรือข้าวตอสอง (ratoon rice) ตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป โดยมีแผนที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวตอสองเพิ่มขึ้นประมาณ 667,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 4,168,750 ไร่) ภายในปี 2573 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหาร สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า กระทรวงเกษตรฯ มีแผนที่จะปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว เทคนิคการเพาะปลูก และนโยบายสนับสนุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวตอสอง ซึ่งข้าวตอสองเป็นข้าวที่ปลูกขึ้นใหม่จากตอข้าวหลังการเก็บเกี่ยวรอบแรก ช่วยให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวในรอบที่สองได้เร็วขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตในบางพื้นที่ โดยในปี 2565 พื้นที่เพาะปลูกข้าวตอสองในจีนมีประมาณ 1 ล้านเฮกตาร์ (ประมาณ 6.25 ล้านไร่) ทั้งนี้ จีน ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มผลผลิตข้าวตอสองให้ได้ร้อยละ 66.7 ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2565 เพื่อรับรองความมั่นคงด้านอาหารสำหรับประชากร 1.4 พันล้านคน

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังได้ประกาศแผนริเริ่มด้านเทคโนโลยีชีวภาพระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาเครื่องมือการปรับแต่งพันธุกรรมและสร้างสายพันธุ์พืชใหม่ๆ โดยคาดว่าจีนจะประกาศแผนพัฒนาภาคชนบทประจำปีหรือที่เรียกว่า "เอกสารหมายเลข 1" ในเร็วๆ นี้

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หมายเหตุ : 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ