สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 3, 2025 15:34 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2568

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนมีนาคม 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.044 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.939 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.068 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.25 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นา ที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.619 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 33.30 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 3.298 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 4.566 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 58.07 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,172 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,247 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,435 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,524 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.05

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 942 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,576 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 945 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,595 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.32 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,447 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตัน 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,443 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 4 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,849 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,845 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 4 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.5201 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) บังกลาเทศ

บังกลาเทศซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของเอเชียใต้ ยังคงต้องนำเข้าข้าวในบางช่วงเวลาเพื่อรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน โดยในปี 2566 บังกลาเทศนำเข้าข้าวประมาณ 2 ล้านตัน จากหลายประเทศ เช่น อินเดีย ไทย เวียดนาม และเมียนมา เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดอาหารภายในประเทศและตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ปัจจุบันบังกลาเทศได้ลงนามในสัญญานำเข้าข้าวขาว 100,000 ตัน จากเวียดนาม โดยบริษัท Vietnam Southern Food Corporation (Vinafood II) ราคาส่งออกอยู่ที่ตันละ 474.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 15,896.91 บาท) ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลกทั่วไป ซึ่งข้อเสนอการซื้อดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการจัดซื้อภาครัฐของบังกลาเทศ (Bangladesh Public Procurement Authority) ในกรุงธากา ขณะนี้ ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างการเตรียมการส่งมอบและรับมอบสินค้า

ทั้งนี้ การนำเข้าข้าวในปริมาณมากจากต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของบังกลาเทศในการควบคุมราคาข้าวภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้โครงการ Open Market Sales (OMS) ซึ่งจะเริ่มต้นก่อนเดือนรอมฎอน โดยรัฐบาลบังกลาเทศจะจัดสรรข้าวจำนวน 907 ตันต่อวัน ผ่านศูนย์กระจายสินค้าจำนวน 906 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 15 ? 30 ตากา (ประมาณกิโลกรัมละ 4.15 ? 8.30 บาท) เพื่อช่วยให้ประชากรที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงอาหารในราคาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ นาย Ali Imam Majumder ที่ปรึกษากระทรวงการอาหารของบังกลาเทศ ระบุว่า บังกลาเทศจะนำเข้าข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนต่ำ เช่น อินเดีย เมียนมา และปากีสถาน เนื่องจากระยะทางใกล้กัน โดยรัฐบาลตั้งเป้านำเข้าข้าวในปี 2568 ประมาณ 800,000 ? 900,000 ตัน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบังกลาเทศจะนำเข้าข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ราคาข้าวในตลาดท้องถิ่นยังลดลงไม่มาก ขณะที่ราคาข้าวเกรดต่ำได้ปรับลดลงแล้วประมาณ 5 ตากา (1.38 บาท)

สำหรับผลกระทบจากสงครามและความไม่มั่นคงทางการเมืองในหลายประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าจำเป็นในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอาหารมีความพร้อมในการรับมือภายใต้ โครงการอาหารราคาประหยัด โดยรัฐบาลจะจัดสรรข้าวจำนวน 30 กิโลกรัมต่อเดือน ให้กับประชากรรายได้น้อยประมาณ 5 ล้านคน ในราคากิโลกรัมละ 15 ตากา (กิโลกรัมละ 4.15 บาท)

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.5201 บาท

อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ตากา เท่ากับ 0.2765 บาท

2) ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries; MAFF) รายงานว่า ราคาข้าวเฉลี่ยในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วประเทศยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 7 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยราคาข้าวในซูเปอร์มาร์เก็ต ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3,892 เยน (ประมาณ 863 บาท) ต่อ 5 กิโลกรัม ซึ่งสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อนประมาณ 62 เยน (ประมาณ 14 บาท) และสูงขึ้นร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ส่งผลให้กลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการค้าส่งในญี่ปุ่นเกิดความกังวลมากขึ้น เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีแผนในการระบายข้าวสำรองเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศแผนการระบายข้าวสำรองจำนวน 2.1 แสนตัน ออกสู่ตลาดหลังจากที่ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อครัวเรือนในประเทศ ทั้งนี้ ข้าวสำรองดังกล่าวจะถูกจำหน่ายผ่านกระบวนการประมูล โดยจะเริ่มจำหน่ายจำนวน 1.5 แสนตัน ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2568 ส่วนปริมาณข้าวสำรองที่เหลือจะถูกกำหนดตามการประเมินเงื่อนไขการกระจายข้าวในรอบถัดไป

ที่มา สำนักข่าวซินหัวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 เยน เท่ากับ 0.2218 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ