สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 17, 2025 15:11 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 มีนาคม 2568

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2567/68 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.020 ล้านไร่ ผลผลิต 27.007 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 435 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2566/67 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.098 ล้านไร่ ผลผลิต 26.934 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 431 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงร้อยละ 0.13 ในขณะที่ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.27 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะลดลง เนื่องจากเกษตรกร มีแนวโน้มที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน หรือมันสำปะหลัง สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนภายหลังจากที่เพาะปลูกแล้วเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ประกอบกับราคาที่เกษตรกรขายได้ยังจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ถึงแม้ว่าในบางจังหวัดประสบอุทกภัยในช่วงเดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ผลผลิตเสียหาย และบางพื้นที่มีการระบาดของแมลงหวี่ขาว แต่พื้นที่ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และไม่พบการระบาดของโรคและแมลง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 - พฤษภาคม 2568 โดยเดือนมีนาคม 2568 ผลผลิตออกสู่ตลาด ปริมาณ 0.044 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 26.939 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 99.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 0.068 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 0.25 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2568 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2567 มีเนื้อที่เพาะปลูก 12.005 ล้านไร่ ผลผลิต 7.864 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 655 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2567 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 10.125 ล้านไร่ ผลผลิต 6.560 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม ทั้งเนื้อที่เพาะปลูก ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นจาก ปี 2567 ร้อยละ 18.57 ร้อยละ 19.88 และร้อยละ 1.08 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ลานีญาที่เริ่มขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึง กันยายน 2567 และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไปจนถึงต้นปี 2568 จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ รวมถึงน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติเมื่อต้นฤดูกาลเพาะปลูกมีปริมาณมากกว่าปีที่แล้ว จูงใจให้เกษตรบางส่วนขยายเนื้อที่เพาะปลูกในที่นาที่เคยปล่อยว่าง เพื่อปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2568 โดยในเดือนมีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 2.619 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 33.30 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด โดยตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2568 มีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 3.298 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 4.566 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 58.07 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,189 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,174 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,243 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,475 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.74

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 34,350 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 33,882 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.38

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.78

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 985 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,033 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 942 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,576 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.56 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,457 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 424 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,219 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,447 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.62 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 228 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,823 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,849 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.5365 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ไทย ? สหรัฐอเมริกา

รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ของโลกในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและความไม่มั่นคงจากนโยบายการปกป้องทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ภายใต้แนวคิด America First ซึ่งสหรัฐฯ ใช้มาตรการทางภาษีศุลกากรเพื่อเจรจาต่อรองทางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกปรับเพิ่มภาษีสินค้า เนื่องจากในปี 2567 ประเทศไทยมีลำดับการค้าระหว่างประเทศอยู่ที่อันดับ 11 ของโลก สินค้าที่สหรัฐฯ ประกาศจะปรับเพิ่มภาษีส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดเดาได้แน่ชัดว่าในกลุ่มสินค้าเกษตรของไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวหรือไม่ ทั้งนี้ สินค้าเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ซึ่งมีปริมาณการส่งออกประมาณ 830,000 ตันต่อปี โดยในจำนวนนี้เป็นข้าวหอมมะลิและข้าวหอมที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 85 หรือประมาณ 705,500 ตัน ดังนั้น นโยบายการปกป้องทางการค้า (Protectionism) ของ

นาย Donald John Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จึงเพิ่มความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปยังสหรัฐฯ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ แร่ธาตุบางชนิด และอื่นๆ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ในอดีตไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าข้าวจากประเทศใดๆ หากมีการเก็บภาษีหรือปรับเพิ่มภาษี จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการส่งออกลดลง พร้อมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อราคาข้าวเปลือกของเกษตรกรไทย

จากข้อมูลของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยร่วมกับกรมศุลกากร พบว่า ในปี 2567 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 9.94 ล้านตัน มูลค่า 225,656 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 และร้อยละ 26.6 ตามลำดับ โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับ 3 ของไทย รองจากอินโดนีเซีย และอิรัก โดยไทยส่งออกข้าวไปยังสหรัฐฯ จำนวน 0.85 ล้านตัน มูลค่า 28,029 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2566 ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 และร้อยละ 27.8 ตามลำดับ สำหรับปี 2568 (ระหว่างเดือนมกราคมถึง 24 กุมภาพันธ์ 2568) การส่งออกข้าวของไทยลดลง โดยสามารถส่งออกได้ 1.1 ล้านตัน ซึ่งลดลงร้อยละ 32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ที่ส่งออกได้ 1.6 ล้านตัน สาเหตุหลักมาจากการที่อินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก กลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้ง ขณะที่ราคาส่งออกข้าวของไทยสูงกว่าคู่แข่ง และประเทศคู่ค้ายังคงมีนโยบายลดการนำเข้า รวมทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ยังผันผวน ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และคาดการณ์ว่าในปี 2568 ประเทศไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 7.5 ล้านตัน

ที่มา ฐานเศรษฐกิจ 2) ญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนที่จะเพิ่มการส่งออกข้าวประมาณ 8 เท่า โดยตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวให้ได้ถึง 350,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 92,200 ล้านเยน (ประมาณ 20,717 ล้านบาท) ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2567แผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการผลิตข้าว โดยการขยายจำนวนเกษตรกรที่ทำนาบนพื้นที่ 15 เฮกตาร์ (ประมาณ 93.75 ไร่) ขึ้นไป พร้อมกับลดต้นทุนการผลิตจาก 11,350 เยน (ประมาณ 2,550 บาท) เหลือ 9,500 เยน (ประมาณ 2,134 บาท) ต่อ 60 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถแข่งขันกับข้าวนำเข้าที่มีราคาถูกกว่า และเพื่อรักษาระดับอุปทานข้าวในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่าขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนข้าวในประเทศ แต่คาดว่าอุปสงค์ข้าวในระยะยาวจะลดลงจากการลดลงของจำนวนประชากร ดังนั้น การเพิ่มการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรวมจาก1.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 0.337 ล้านล้านบาท) ในปี 2567 เป็น 5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.124 ล้านล้านบาท) ในปี 2573 และยังตั้งเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายในการบริโภคอาหารของนักท่องเที่ยวขาเข้าจาก 1.6 ล้านล้านเยน (ประมาณ 0.360 ล้านล้านบาท) เป็น 4.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1.011 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ สำนักข่าวเกียวโด (Kyodo News) รายงานว่า ร่างแผนการเกษตรขั้นพื้นฐานที่ปรับปรุงทุก ๆ 5 ปี ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเพิ่มผลผลิตข้าว นอกเหนือจากการเพิ่มการส่งออกข้าว โดยแผนยังได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และการลดลงของจำนวนเกษตรกรในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในการผลิตและอุปทานอาหารภายในประเทศ

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

หมายเหตุ 1 เฮกตาร์ เท่ากับ 6.25 ไร่

อัตราแลกเปลี่ยน 1 เยน เท่ากับ 0.2247 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ