1. สถานการณ์การผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
การผลิต
สินค้าประมงไทยผ่านมาตรฐานสหภาพยุโรป(EU)
ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า คณะผู้ตรวจประเมินจากสำนักงานอาหารและสัตวแพทย์ศาสตร์แห่งคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป(FVO : Food and Veterinary Office ) จำนวน 3 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 2 คน และผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ 1 คน ได้มาตรวจประเมินการตรวจสอบรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และห้องปฏิบัติการของกรมประมง ในฐานะที่เป็น Competent Authority (CA) หน่วยตรวจสอบรับผิดชอบในการกำกับดูแล และออกใบรับรองสินค้าสัตว์น้ำให้กับ สหภาพยุโรป ในการเดินทางมาตรวจครั้งนี้ ยังได้ขยายเขตการตรวจไปถึงระดับควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ และสารชีวพิษในหอยสองฝา โดยการตรวจสอบมุ่งเน้นในเรื่องสุขอนามัยของสถานที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำ ตั้งแต่แหล่งจับหรือแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำ เรือจับสัตว์น้ำ สะพานปลา ท่าเทียบเรือ ตลาดกลางสัตว์น้ำ โรงงานและสถานแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งคณะผู้ตรวจได้สุ่มตรวจสอบพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา สมุทรสาคร และสมุทรปราการ
คณะผู้ตรวจฯได้แจ้งผลการตรวจให้กรมประมงได้ทราบในเบื้องต้นแล้วว่าระบบการตรวจสอบรับรองของกรมประมงเป็นไปตามมาตรฐานกำหนดของสหภาพยุโรป ทั้งมาตรฐานการตรวจสุขอนามัย และการตรวจวิเคราะห์คุณภาพของสินค้าในห้องปฏิบัติการ ส่วนการลงพื้นที่ตรวจสอบใน 6 จังหวัดนั้น พบว่าทุกกระบวนการผลิตสินค้าสัตว์น้ำของไทยมีมาตรฐานสุขอนามัยดี ถูกต้องตามข้อกำหนดของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ ทางคณะผู้ตรวจยังได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการควบคุมสุขอนามัย เพื่อปรับปรุงมาตรฐานของระบบการตรวจให้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งทางกรมประมง ได้เน้นย้ำกับสหภาพยุโรปให้ได้ทราบถึงนโยบายความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงระบบการตรวจสอบของไทยให้ได้มาตรฐานที่ดียิ่งขึ้นตลอดไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า เกี่ยวกับความ ปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไทย
ดร. จิราวรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า FVO กำหนดให้มีการตรวจประเมินหน่วยงาน CA ทุก 3 ปี สำหรับการเดินทางมาตรวจสอบกรมประมง ซึ่งเป็น CA ของประเทศไทย ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ผลการตรวจสอบผ่านมาตรฐานข้อกำหนดและสร้างความมั่นใจให้กับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากปริมาณการส่งออกสินค้าประมงไป EU ที่ผ่านมา เมื่อปี 2549 มียอดการส่งออกสูงถึง 247,309.34 ตัน (คิดเป็นมูลค่า 28,869.17 ล้านบาท) และปี 2550 มียอดส่งออก 244,626.38 ตัน (คิดเป็นมูลค่า 30,020.10 ล้านบาท) จึงคาดว่ายอดส่งออกสินค้าประมงของไทยไป สหภาพยุโรป ในปี 2551 ก็คงจะเพิ่มขึ้นอีกเช่นเดิม
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 - 17 ก.ย. 2551) สัตว์น้ำทุกชนิดส่งเข้าประมูลจำหน่ายที่องค์การสะพานปลากรุงเทพฯ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 766.86 ตัน แยกเป็นสัตว์น้ำเค็ม 480.92 ตัน สัตว์น้ำจืด 285.94 ตัน ประกอบด้วยสัตว์น้ำที่สำคัญ ได้แก่
1.1 ปลาดุก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.11 ตัน 1.2 ปลาช่อน ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 4.76 ตัน 1.3 กุ้งทะเล ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 74.58 ตัน 1.4 ปลาทู ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 3.80 ตัน 1.5 ปลาหมึก ส่งเข้าประมูลจำหน่าย 62.20 ตัน
การตลาด
ความเคลื่อนไหวของราคาสัตว์น้ำที่สำคัญประจำสัปดาห์นี้มีดังนี้ คือ
2.1 ปลาดุกบิ๊กอุย ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 37.41 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 37.65 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.24 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ ไม่มีรายงานราคาจากองค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
2.2 ปลาช่อน ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 62.42 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 60.00 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 2.42 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 110.00 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 105.71 บาท ของสัปดาห์ก่อน 4.29 บาท
2.3 กุ้งกุลาดำ ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60 ตัว/กก.) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา
2.4 กุ้งขาวแวนนาไม ราคาที่ชาวประมงขายได้ขนาดกลาง (51-60 ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 123.18 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 119.92 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 3.26 บาท
สำหรับราคา ณ ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาครขนาดกลาง (60ตัว/กก.) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 120.00 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 122.00 บาท ของสัปดาห์ก่อน 2.00 บาท
2.5 ปลาทู ปลาทูสดขนาดกลาง ราคาที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 56.68 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 56.95 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.27 บาท
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 55.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.6 ปลาหมึก ราคาปลาหมึกกระดองสดที่ชาวประมงขายได้ ไม่มีรายงานราคา
สำหรับราคาประมูลจำหน่ายที่สะพานปลากรุงเทพฯ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 130.00 บาท ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
2.7 ปลาเป็ดและปลาป่น ราคาปลาเป็ดที่ชาวประมงขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 10.03 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 9.91 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.12 บาท
สำหรับราคาขายส่งปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% (ระหว่างวันที่ 4 - 10 ต.ค.2551) เฉลี่ยกิโลกรัมละ 31.14 บาท ลดลงจากกิโลกรัมละ 31.50 บาท ของสัปดาห์ก่อน 0.36 บาท
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6-12 ตุลาคม 2551--