1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 การตลาด
1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551
เป้าหมายรับจำนำ 4.5 ล้านตัน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 และ 16 กันยายน 2551 รวมวงเงินรับจำนำ 58,000 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ตั้งเป้าไว้ 2.5 ล้านตัน ขณะนี้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังได้สิ้นสุดแล้วคงเหลือระยะเวลาไถ่ถอนคืนถ้าราคาตลาดสูงกว่า และส่วนที่เกษตรกรไม่มาไถ่ถอนรัฐบาลจะได้ดำเนินการสั่งสีแปรสภาพเป็นข้าวสารต่อไป
- ผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 15 มิย - 13 ต.ค. 51 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 318,094 ราย ปริมาณข้าวเปลือก 4,164,958 ตัน คิดเป็นร้อยละ 92.56 ของเป้าหมายที่รับจำนำ (ที่มา: ธ.ก.ส.)
2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปี 2551/52
คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. ได้มีมติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 เห็นชอบกรอบโครงการรับจำนำข้าวนาปี 2551/2552 โดยตั้งเป้าหมายรับจำนำปริมาณ 8 ล้านตันข้าวเปลือก ตามมติ กขช. เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2551 แต่ราคารับจำนำปีนี้ ให้คณะทำงานพิจารณาใหม่ให้เหมาะสมกับตลาดเพื่อให้ธุรกิจการค้าข้าวในตลาดสามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวในตลาดโลกลดลงมาก แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะสามารถดำเนินการโครงการรับจำนำได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ที่จะถึงนี้
ภาวะการซื้อขาย ข้าวในสัปดาห์นี้ ราคายังลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากขณะนี้ผลผลิตข้าวนาปี 2551/52 เริ่มออกสู่ตลาดมาก และพ่อค้าส่งออกยังไม่ออกมารับซื้อข้าวเพื่อส่งออก เพราะยังไม่มีคำสั่งจากลูกค้ารายใหญ่ ส่งผลให้พ่อค้าโรงสีหยุดทำการสีข้าว และออกรับซื้อข้าวจากเกษตรกรน้อยลง เนื่องจากข้าวเปลือกของโรงสียังมีสต๊อกข้าวฤดูเก่าเหลืออยู่จำนวนมาก ประกอบกับเกรงว่าราคาข้าวอาจลดลงอีกถ้าซื้อในช่วงนี้อาจจะทำให้ขาดทุนเพราะข้าวเวียดนามขณะนี้มีราคาต่ำกว่าประเทศไทยมากถึงเกือบ 200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ประเทศผู้นำเข้าจึงหันไปทำสัญญาซื้อจากเวียดนามเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีข่าวว่าสต๊อกข้าวขาวที่ไม่ใช่บัสมาติของอินเดียที่มีมากพอที่จะเหลือส่งออกได้แล้ว คาดว่าจะพิจารณาขายได้ในเดือนพฤศจิกายนนี้
การส่งออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 13 ตุลาคม 2551 ไทยส่งออกข้าวทั้งหมด จำนวน 8.658 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 6.661 ล้านตันข้าวสาร ของการส่งออกข้าวในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 29.98 (ที่มา: กรมการค้าต่างประเทศ)
1.2 ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,533 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,586 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39
ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 10,638 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,367 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.42
ราคาข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ที่เกษตรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 6,672 บาท ราคาลดลงจากตันละ 6,797 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84
ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,510 บาท ราคาลดลงจากตันละ 19,150 บาท ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.34
ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี
ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 2 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 818 ดอลลาร์สหรัฐฯ (27,815 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,096 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 281 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 670 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,783 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 691 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,618 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 835 บาท
ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 543 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,464 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 557 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,038 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.51 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 574 บาท
ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 667 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,681 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 689 ดอลลาร์สหรัฐฯ (23,550 บาท/ตัน) ของสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.19 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 869 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.0037
2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ
2.1 อินเดียส่งออกข้าวไปแอฟริกา อินเดียเตรียมส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติไปประเทศในทวีปแอฟริกา โดยจะส่งออกข้าวจำนวน 15,000 ตัน ไปยังประเทศไนจีเรีย เซเนกัล กานา และจำนวน 10,000 ตันไปประเทศคาเมรูน ในการนี้ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าวของอินเดียได้ชี้แจงว่า ทางสมาคมฯ มีความยินดีกับการส่งออกข้าวครั้งนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น เนื่องจากทางสมาคม ฯ ยังไม่เห็นท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลในการยกเลิกมาตรการห้ามการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ ทั้งที่อินเดียมีข้าวสำรองในสต็อกเพียงพอแล้วดังนั้นจึงเป็นการสมควรที่รัฐบาลอินเดียจะอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ อย่างไรก็ตามรัฐบาลอินเดียจะมีการทบทวนมาตรการห้ามการส่งออกข้าวในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้
2.2 ตลาดข้าวยังคงน่าเป็นห่วง ข้าวเป็นหนึ่งในธัญพืชที่มีความสำคัญของโลก การที่ราคาส่งออกข้าวได้เพิ่มสูงขึ้น 3 เท่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาจนถึงพฤษภาคมปีนี้ ซึ่งสร้างสถิติใหม่ของราคาส่งออกข้าวให้สูงกว่า 700 เหรียญสหรัฐต่อตัน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดการจลาจลหรือความไม่สงบในหลาย ๆ ประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในการนี้สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (International Rice Research Institute : IRRI) ได้มีการคาดการณ์ว่าตลาดข้าวโลกในช่วงปี 2551/52 ยังคงน่าเป็นห่วงถึงแม้ว่าประเทศผู้ผลิตข้าวหลักได้มีการระบายข้าวสู่ตลาดแล้วก็ตาม โดยในปีนี้นั้นมีการประมาณการว่าผลผลิตข้าวทั้งหมดจะมีประมาณ 432 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาที่ผลผลิตข้าวมีเพียง 428 ล้านตันหรือได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ซึ่งการที่ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นนั้นก็เนื่องจากการที่พื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมาถึง 6.25 ล้านไร่ โดยมากกว่าครึ่งของพื้นที่ดังกล่าวเป็นของประเทศอินเดีย ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวรวมของโลกปีนี้อยู่ที่ 971 ล้านไร่ อย่างไรก็ตามราคาข้าวก็ยังคงจัดว่ามีราคาค่อนข้างสูงซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เนื่องมาจากมาตรการห้ามการส่งออกจากประเทศผู้ผลิตข้าวเป็นหลัก
--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 13-19 ตุลาคม 2551--